ข้อมูลทั่วไป
กระดูกหัก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดและรุนแรงมากขึ้น เมื่อมียานพาหนะที่ขับขี่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การมีประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราพบปัญหากระดูกหักในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามวิทยาการด้านการแพทย์ที่เจริญมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้การดูแลรักษาปัญหากระดูกหักมีความก้าวหน้าและเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จในการรักษาได้อย่างน่ายินดี
การรักษาในยุคใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่จะดามกระดูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้มุ่งเน้นที่จะลดสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อบริเวณที่เกิดกระดูกหักและอันตรายต่อร่างกายโดยรวมด้วย ที่เรียกในทางการแพทย์ว่า “Damage Control”
นอกจากนั้นความก้าวหน้าของวัสดุและเทคนิควิธีการผ่าตัดเพื่อเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จในการเชื่อมติดของกระดูกให้สูงขึ้นก็มีผลอย่างมากต่อการพลิกโฉมการรักษากระดูกหัก ความก้าวหน้าทางการแพทย์สมัยใหม่ได้ค้นคว้าหาวิธีการผ่าตัดที่มีการชอกช้ำน้อย รบกวนกล้ามเนื้อและกระดูกบริเวณที่หักน้อย ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวดี ส่งผลให้แผลหายเร็ว ประสบความสำเร็จในการเชื่อมติดของกระดูกเพิ่มขึ้น พักรักษาในโรงพยาบาลสั้นลง เทคนิคดังกล่าวมีชื่อ เรียกทางการแพทย์ว่า Minimally invasive Plate Osteosynthesis หรือ “MIPO Technique“
ศูนย์รักษากระดูกหักเป็นศูนย์ที่เพียบพร้อมสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บของกระดูกหรือข้อ กระดูกหักชนิดที่ซับซ้อนและรุนแรง (Complicated Fractures and Severe Injuries) หรือการหักชนิดมีบาดแผลเปิดลึกถึงกระดูก (Open Fractures) การหักหลาย ๆ ส่วนพร้อม ๆ กัน (Multiple Fractures) มีความพร้อมในทุกด้านที่จำเป็นต่อการรักษา มีระบบการให้การดูแลรักษาครบวงจร ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ทีมดูแลผู้ป่วยระหว่างเคลื่อนย้ายจากสถานพยาบาลต้นทางจนมาถึงโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทาง อาทิเช่น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการรักษากระดูกและข้อหักและเคลื่อน (Orthopedic Trauma Surgeons) ทั้งการรักษาชนิดที่ไม่ต้องผ่าตัด (Nonsurgical Treatment) และการรักษาที่ต้องได้รับการผ่าตัด (Surgical Treatment) รวมถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและได้รับการส่งต่อมา เพื่อทำการแก้ไข เช่น การรักษาอาการกระดูกไม่เชื่อมติด (Non Union or Delayed Union) การรักษาอาการกระดูกเชื่อมติดผิดรูป (Mal Union and Deformity Correction) การรักษากระดูกหักจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น กระดูกบาง Osteoporosis and Fracture หรือการหักจากมะเร็งกระดูก (Pathological Fracture and Metastasis)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บและมีกระดูกหักชนิดซับซ้อนมีการหักหลายชิ้นส่วน (Complicated or Multifragmentary Fractures) ทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการรักษากระดูกและข้อหักและเคลื่อน (Orthopedic Trauma Surgeons) จะใช้เทคนิกการผ่าตัดใหม่ที่ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่แบบดั้งเดิม แต่เป็นการผ่าติดชนิดแผลเล็ก (Minimally Invasive Fracture Surgery) ที่ทำให้เสียเลือดน้อย ลดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้กระดูกติดช้าลง อีกทั้งยังลดอัตราการติดเชื้อของกระดูกและเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บของกระดูกและข้อในบริเวณที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะศูนย์รักษากระดูกหัก ยังมีทีมแพทย์ที่มีความสามารถเป็นพิเศษ เช่น
- ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญด้านการรักษาผู้ป่วยที่มีกระดูกหักหลายตำแหน่งพร้อม ๆ กัน หรือการหักของกระดูกสะโพกและเชิงกรานหัก (Multiple Fractures and Pecvic Acetbulum Fracture Surgery)
- ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญด้านศัลยกรรมมือ Orthopedic Hand and Microsurgery
- ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง Spine Surgery
- ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องของข้อต่าง ๆ Arthroscopic Surgery เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือกีฬา Sport Traumatology
- ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความชำนาญด้านการรักษาผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการบาดเจ็บกระดูกหัก (Pediatric Fracture)
นอกจากนี้ยังมีศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ หลายสาขา (Multidisciplinary Team Approach) ที่มาร่วมกันช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บและอยู่ในภาวะวิกฤติ (Critical Conditions) หรือผู้ป่วยที่สูงอายุและมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด (Giriatric Fracture Surgery) เช่น อายุรแพทย์สาขาต่าง ๆ เช่น ผู้ชำนาญด้านโรคหัวใจ (Cardiologist) ผู้ชำนาญด้านโรคไต (Nephrologist) ผู้ชำนาญด้านโรคระบบเลือด (Hematologist) ผู้ชำนาญด้านโรคติดเชื้อ (Infectious Specialist) และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญ และทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด เพื่อดูแลหลังผ่าตัดได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด
นอกจากความพร้อมในด้านบุคลากรแล้ว ศูนย์รักษากระดูกหักยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการช่วยผ่าตัด เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ช่วยนำร่องในการผ่าตัด (Computer Assisted Orthopaedic Surgery) และเครื่องแสกนคอมพิวเตอร์ 3 มิติ ที่ติดตั้งไว้ในห้องผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อให้มีความพร้อมในทุกสถานการณ์และให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด