โรงพยาบาลสีเขียวรักษ์โลก

ด้วยความเชื่อว่าอาคารเขียว หรือ อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านสุขภาพของผู้คนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล” (Bangkok International Hospital: BIH) ได้ขยายพันธกิจในการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนและมุ่งมั่นในการร่วมมือร่วมใจเพื่อลดผลกระทบของการพัฒนาความเจริญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

เพื่อบรรลุพันธกิจดังกล่าว โรงพยาบาลฯ ได้ยึดเอาเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว หรืออาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการ

LEED 2009 for Healthcare

LEED (Leadership in Energy and Environment) เป็นเกณฑ์ประเมินอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ พัฒนาขึ้นโดยสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา หรือ U.S Green Building Council (USGBC) โดย LEED 2009 for Healthcare เป็นการกำหนดเกณฑ์เฉพาะเจาะจงสำหรับอาคารสถานพยาบาล โดยมุ่งเน้นประเมินความยั่งยืนและประสิทธิภาพของโรงพยาบาล ทั้งในแง่ของสุขภาพของผู้ป่วยและคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

การพัฒนาโรงพยาบาลโดยดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED 2009 for Healthcare ช่วยให้มั่นใจว่าแนวคิดด้านการอนุรักษ์พลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ถูกนำไปพิจารณาในทุกกระบวนการของการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร ซึ่งจะส่งผลสำคัญในการช่วยรักษาโลกของเรา

ตามแนวทางของ LEED ประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมได้ถูกนำมาพิจารณาระหว่างการออกแบบและการก่อสร้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม


สถานที่ตั้งซึ่งส่งเสริมความยั่งยืน

Sustainable sites

การป้องกันมลภาวะที่เกิดจากการก่อสร้าง

ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง  ทางโรงพยาบาลฯ ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ :

  • ป้องกันปัญหาการกัดกร่อนและการสูญเสียหน้าดิน
  • ป้องกันเศษดินและตะกอนไหลลงสู่จุดรับน้ำฝน
  • ป้องกันมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นในการก่อสร้าง

การประเมินสภาพสิ่งแวดล้อมของที่ตั้งโครงการ เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยมีการใช้ประโยชน์บนพื้นที่มาก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลฯ ได้ดำเนินการประเมินอย่างถี่ถ้วนว่ามีสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนตกค้างอยู่ในพื้นที่หรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความจำเป็นในการบำบัดและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ก่อนเริ่มกิจกรรมก่อสร้าง

การเลือกที่ตั้ง / ความหนาแน่นของการพัฒนา / การเชื่อมต่อกับชุมชน

โรงพยาบาลฯ ได้รับการพิจารณาให้สร้างในย่านที่มีความหนาแน่นของชุมชนที่มีความเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีระบบสาธารณูปโภค รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึง ถนน และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการขยายเมืองออกไปรุกล้ำพื้นที่สีเขียวนอกเมือง

การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล  โรงพยาบาลฯได้จัดให้มีรถรับส่ง ผู้ป่วย, ญาติ และพนักงาน เพื่อเดินทางระหว่างโรงพยาบาลฯ ไปยังสถานีระบบขนส่งมวลชน  ทั้งในเส้นทางรถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT)

Sustainable sites

การลดผลกระทบจากเกาะความร้อน

เกาะความร้อน หรือ Heat Island Effect” เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิในเขตเมืองจะร้อนกว่าบริเวณชานเมือง ซึ่งส่งผลต่อสภาวะความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยและทำให้เกิดความผิดปกติของสภาวะอากาศบริเวณนั้นๆ ดังนั้นโรงพยาบาลฯ ได้พิจารณาเลือกวัสดุปูพื้นหลังคาและดาดฟ้า ซึ่งมีค่าการสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์สูง (Solar Reflectance Index: SRI) ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นวัสดุสีขาวหรือสีอ่อน รวมถึงจัดให้มีสวนลอยฟ้าเพื่อช่วยบรรเทาการเกิดภาวะเกาะความร้อน

Sustainable sites

ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ

โรงพยาบาลฯ จัดให้มีสวนลอยฟ้าซึ่งได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อช่วยส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้งานอาคารและมีส่วนช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย ด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติผ่านเส้นทางชมสวนที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะภายใต้การคำนึงถึงความปลอดภัย

01-Sustainable sites01-Sustainable sites


การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

02-Water efficiency

ลดการใช้น้ำในอาคาร

สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลฯ ได้ผ่านการคัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อช่วยลดการใช้น้ำภายในอาคารลงอย่างน้อย 20% เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารทั่วไป ความมุ่งมั่นในการลดการใช้น้ำของโรงพยาบาลฯ จะส่งผลในการลดภาระการผลิตน้ำประปาและการบำบัดน้ำเสียของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ลดการใช้น้ำประปาในการระบายความร้อนของอุปกรณ์ทางการแพทย์

เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาอย่างสิ้นเปลืองในการระบายความร้อนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลฯ ได้กำหนดให้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีการใช้งานในโรงพยาบาลฯ ต้องเป็นระบบที่ระบายความร้อนด้วยอากาศหรือระบายความร้อนด้วยน้ำซึ่งเป็นระบบปิดเท่านั้น

ลดการใช้น้ำในเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ของอาคาร

  • ปั๊มสูญญากาศที่มีการใช้งานในอาคารเป็นประเภทที่ไม่ใช้น้ำในการระบายความร้อน
  • ระบบการสร้างภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging System) ของโรงพยาบาลฯ เป็นระบบที่ดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลทุกกระบวนการ ซึ่งทำให้สามารถยกเลิกการใช้น้ำในขั้นตอนการล้างฟิล์มลงไปได้

ลดการใช้น้ำสำหรับหอระบายความร้อน (Cooling Towers)

  • ติดตั้งหอระบายความร้อน (Cooling Towers) ซึ่งผ่านการคัดเลือกเป็นพิเศษเพื่อลดการสูญเสียน้ำไปตามการฟุ้งกระจายของน้ำหล่อเย็น (Drift Loss) ให้น้อยกว่าค่าที่กำหนด
  • ลดการใช้น้ำในระบบระบายความร้อนและตั้งเป้ารักษาค่าวัฏจักรความเข้มข้นที่ 5 โดยการติดตั้งมาตรวัดน้ำและอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมติดตาม ปรับสภาพน้ำหล่อเย็นอย่างใกล้ชิด รวมถึงควบคุมปริมาณการระบายน้ำทิ้ง และการเติมน้ำเพิ่มอย่างเหมาะสม

02-Water efficiency
Water efficiency


พลังงานและบรรยากาศ

03-Energy and atmosphere

การจัดการสารทำความเย็น

สารทำความเย็นที่มี CFC (Chlorofluorocarbon) มีส่วนในการทำลายชั้นโอโซน และทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โรงพยาบาลฯ มีแนวปฏิบัติอย่างเข้มงวดโดยกำหนดให้เครื่องจักร, อุปกรณ์ทุกชนิดต้องไม่มีการใช้สาร CFC

การประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่

อาคารโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในอาคารที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก โรงพยาบาลฯ จึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของอาคาร

  • เลือกใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูงในอุปกรณ์ส่งลมเย็น เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าของระบบปรับอากาศ
  • ติดตั้งอุปกรณ์ลดรอบมอเตอร์สำหรับปรับรอบการทำงานให้เหมาะสมกับภาระการทำงานของอุปกรณ์
  • ติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นระบบหลักสำหรับใช้งานภายในอาคาร
  • เลือกใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน (LED) ทั่วทั้งโรงพยาบาลฯ

การใช้พลังงานหมุนเวียนในอาคาร

โรงพยาบาลฯ ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์บนพื้นที่ชั้นดาดฟ้า โดยเชื่อมต่อไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้ากับระบบจ่ายไฟฟ้าหลักของอาคาร เพื่อส่งเสริมการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น

Energy and atmosphere


วัสดุ และทรัพยากร

04-Materias and resources

การจัดการขยะรีไซเคิล

เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกส่งไปยังบ่อฝังขยะและเตาเผาขยะ โรงพยาบาลฯ ได้ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะด้วยการจัดพื้นที่คัดแยกและแยกจัดเก็บขยะแต่ละประเภท เช่น เอกสารรอทำลาย, กระดาษรีไซเคิล, ขยะพลาสติค, ถ่านไฟฉาย เพื่อรอการจัดส่งไปรีไซเคิล หรือ กำจัดอย่างเหมาะสมต่อไป

การลดแหล่งกำเนิดสารพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Bioaccumulative and Toxics : PBTs) – ปรอท, ตะกั่ว, แคดเมี่ยม, ทองแดง

โรงพยาบาลฯ มุ่งมั่นที่จะลดสารพิษตกค้างยาวนาน (PBTs) ในวัสดุที่มีการใช้งานในอาคารด้วยการปฏิบัติตามมาตรการดังนี้

  • บังคับใช้นโยบายโรงพยาบาลไร้ปรอท โดยหันมาใช้อุปกรณ์ประเภทอื่นทดแทน เช่น การใช้เครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องมือวัดความดันด้วยระบบดิจิทัล แทนการใช้อุปกรณ์แบบเดิมซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ
  • ยกเลิกการใช้หลอดไฟรุ่นเดิมที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ และเปลี่ยนไปใช้หลอด LED ทั้งอาคาร
  • สายไฟฟ้าในโรงพยาบาลฯ ถูกกำหนดให้ใช้ชนิดที่มีตะกั่วผสมในปริมาณไม่เกิน 300 ppm
  • สีทาผนังทั้งภายในและภายนอกอาคารถูกกำหนดให้เป็นชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแคดเมี่ยมและตะกั่ว

การจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง

โรงพยาบาลฯ และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการจัดการขยะจากการก่อสร้างด้วยการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะก่อสร้างทั้งหมด และจัดให้มีการส่งกลับไปรีไซเคิลต่อไป

เลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน

ด้วยความตั้งใจที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลฯ ได้กำหนดให้ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลในปริมาณหนึ่ง หรือผลิตภัณฑ์ที่จัดหา /ผลิต ในท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างเพื่อช่วยลดปริมาณการขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างจากแหล่งห่างไกล

04-Materias and resources04-Materias and resources


คุณภาพของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร

05-Indoor Environmental Quality

คุณภาพของอากาศภายในอาคาร

ระบบปรับอากาศและระบายอากาศของโรงพยาบาลฯ ได้รับการออกแบบตามมาตรฐาน ASHRAE standard 170-2008 เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานอาคารได้รับความสบาย และสภาพอากาศที่เหมาะสม

การควบคุมควันบุหรี่

โรงพยาบาลฯกำหนดใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ 100% ภายในอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีควันบุหรี่รั่วไหลไปสู่ผู้ป่วย

การจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารก่อนการเริ่มใช้งานอาคาร

ภายหลังการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและก่อนการเข้าใช้งานอาคาร โรงพยาบาลฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารซึ่งมีการปนเปื้อนด้วยการจ่ายอากาศจากภายนอกเข้าสู่อาคารเพื่อเจือจางความปนเปื้อน และดูดอากาศเหล่านั้นออกจากอาคารเพื่อลดการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารและส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้งานอาคาร

การใช้วัสดุที่ปล่อยสารระเหยต่ำ

วัสดุที่นำมาใช้ในอาคารถูกกำหนดให้มีส่วนช่วยในการลดปริมาณสารปนเปื้อนในอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความระคายเคืองและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานอาคาร  โรงพยาบาลฯ ใส่ใจอย่างละเอียดในการเลือกใช้วัสดุที่มีความเสี่ยงในการปลดปล่อยสารระเหย เช่น กาวประเภทต่างๆ, วัสดุอุดรอยต่อ, สีทาภายใน โดยวัสดุเหล่านี้ต้องมีส่วนผสมของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound: VOC) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

Volatile organic Compounds หมายถึง กลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย จัดเป็นอากาศพิษ (Toxic Air) ซึ่งในชีวิตประจำวันเราได้รับสารชนิดนี้จากผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่า สีทาอาคาร, ควันบุหรี่, กาว, สารที่เกิดจากการเผาไหม้ และปนเปื้อนในอากาศ, น้ำดื่ม

ความสามารถในการควบคุมระบบแสงสว่าง และระบบปรับอากาศ

โรงพยาบาลฯ ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้การควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่าง สามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้ป่วยสามารถปรับอุณหภูมิ, เปิดปิดม่าน, เปิดปิดหลอดไฟ ได้อย่างง่ายดายจากเตียงผู้ป่วย เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ดียิ่งขึ้น

05-Indoor Environmental Quality

ความสามารถในการรับแสงจากธรรมชาติและทิวทัศน์

ห้องพักผู้ป่วยของโรงพยาบาลฯ ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยจะได้รับแสงจากธรรมชาติและมองเห็นทิวทัศน์ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งหน้าต่างเต็มความกว้างของห้อง เพื่อให้รู้สึกถึงการเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก

05-Indoor Environmental Quality