ข้อมูลทั่วไป
การดูแลผู้ป่วยโรคลมชักครบวงจร
บริการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อการรักษาที่มีมาตรฐานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
การบริการด้านคลินิก
บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคลมชักด้วยแพทย์เฉพาะทางและบริการให้คำปรึกษาเมื่อมีอาการชักหรือสงสัยว่ามีอาการชัก เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่ออาการหรือปัญหา เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดขึ้นขณะชัก
การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคลมชัก
การตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการชัก (Epileptogenic Lesion) มีหลายวิธี เช่น
-
- การตรวจคลื่นสมอง (EEG) โดยการติดสายไฟฟ้าไว้บนศีรษะในตำแหน่งต่าง ๆ ขณะที่ผู้ป่วยโรคลมชักนอนหลับตา ประมาณ 20 – 30 นาที เครื่องจะบันทึกคลื่นสมองและตรวจหาจุดบนผิวสมองที่ปล่อยไฟฟ้าผิดปกติซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการชัก
- การตรวจคลื่นสมองประกอบภาพวิดีทัศน์ (Video EEG Monitoring) ผู้ป่วยโรคลมชักจะเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะทำการบันทึกภาพวิดีทัศน์คลื่นสมองของผู้ป่วยด้วยคอมพิวเตอร์ขณะเกิดอาการชัก ทำให้ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสมองในขณะกำลังชัก การตรวจนี้ทำให้ตรวจหาจุดที่ก่อให้เกิดอาการชักได้ตรงจุดกว่าการตรวจการตรวจคลื่นสมองแบบธรรมดา (EEG)
- การถ่ายภาพแม่เหล็กสมอง (MRI) เป็นการดูภาพอย่างละเอียดทันสมัยที่สุดในปัจจุบันเพื่อหาสาเหตุของการชัก แม้จะมีขนาดเล็กมาก เช่น แผลเป็น เนื้องอกขนาดเล็ก หรือเนื้อสมองที่พิการตั้งแต่กำเนิด อย่างไรก็ตามการเอกซเรย์สมองจะต้องมีการนำเทคนิคพิเศษมาเพื่อทำให้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วยการทำ MRI ธรรมดา
- การตรวจภาพกัมมันตรังสี แพทย์จะทำการฉีดสารกัมมันตรังสีในขณะที่ผู้ป่วยเริ่มชักโดยสารกัมมันตรังสีจะไปจับตรงตำแหน่งของสมองที่ก่อให้เกิดอาการชัก ทำให้แพทย์สามารถหาตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของการชักซึ่งจะมีประโยชน์มากในการเตรียมการผ่าตัดรักษา
- การตรวจ Interictal Spect เป็นการตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชัก โดยเป็นการตรวจในขณะที่ผู้ป่วยโรคลมชักไม่มีอาการชักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- การตรวจ Ictal Spect การตรวจหารจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชัก ขณะที่ผู้ป่วยโรคลมชักเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง 24 ชั่วโมงพร้อมวิดีทัศน์ โดยจะฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าในร่างกายผู้ป่วยทันทีที่มีอาการชัก สารจะเข้าไปจับตรงตำแหน่งของสมองที่ผิดปกติ ที่เป็นจุดกำเนิดของอาการชัก เพื่อผลในการเตรียมผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก
- การตรวจ Interictal PET เป็นการตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสี ฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยโรคลมชักในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการชัก มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก่อนที่จะทำการตรวจ PET Scan จะทำให้ทราบตำแหน่งของจุดกำเนิดชักได้
- การตรวจการทำงานของสมอง (Functional Mapping) การตรวจสมองด้วย Functional Mapping ทำให้ทราบว่าสมองส่วนไหนที่ควบคุมร่างกายหรือส่วนไหนที่ไม่มีความสำคัญต่อร่างกาย หากพบแผลเป็นในตำแหน่งที่ไม่อยู่ในส่วนที่สำคัญของร่างกายแพทย์สามารถผ่าตัดเอาส่วนนั้นออกได้เพื่อให้ผู้ป่วยหายโรคลมชักได้
- การตรวจเรื่องความจำและภาษา (Neuropsychological และ Wada Test) โดยการทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาการตรวจสภาพจิตอารมณ์และหน้าที่สมองด้วยเครื่องมือทางจิตวิทยา การตรวจตำแหน่งสมองที่ควบคุมเรื่องความจำและภาษา เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของสมองจาการผ่าตัดผิดตำแหน่ง Wada Test เป็นการทดสอบเรื่องของความจำและการพูด เพื่อศึกษาว่าสมองที่ควบคุมความจำและการพูดอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือไม่ ตลอดจนสามารถรู้ได้ว่าแผลเป็นในสมองกับตำแหน่งที่ควบคุมร่างกายเป็นเรื่องของศูนย์ภาษาหรือศูนย์ความจำ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาทำการผ่าตัดของแพทย์
- การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ป่วย ICU (ICU Monitoring) การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ป่วยโรคลมชักที่อยู่ใน ICU, CCU ที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรู้สึกตัวตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยวิกฤติเทียบเท่าใน U.S.A. การศึกษาล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยโรคลมชักที่ป่วยอยู่ใน ICU ที่มีระดับความรู้สึกตัวผิดปกติ จะมีอุบัติการณ์การเกิดคลื่นไฟฟ้าชักสูงด้วย 40% ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีผลแทรกซ้อนตามมา เนื่องจากสมองได้รับความกระทบกระเทือน ทำให้ไม่ตื่น หรือมีความพิกลพิการตามมา ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่มีอาการชักเกร็งกระตุกให้เห็น การวินิจฉัยจะต้องใช้ EEG Monitoring ซึ่งใน U.S.A มีการกำหนดผู้ป่วยโรคลมชักที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวดังนี้
- ถ้าระดับการเปลิ่ยนแปลงของความรู้สึกตัว < 24 ชั่วโมง ให้มีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองประมาณ 48 – 72 ชั่วโมง
- ถ้าการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกตัว > 48 ชั่วโมงให้มีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองอย่างน้อย 3 – 5 วัน