ข้อมูลทั่วไป

ปรากฏการณ์โรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ ที่เกิดขึ้นกับคนไทย และยังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยมานานแล้ว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองที่ถูกทำลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

โรคนี้มีระยะเวลาในการก่อโรคนาน 15 – 20 ปี กว่าจะแสดงออกถึงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน เดิมพบว่าคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 10% ส่วนคนที่อายุ 85 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 40 – 50% มีการศึกษาพบว่าโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จะเริ่มมีอาการเริ่มต้น คือความจำถดถอยก่อน ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการยากในการวินิจฉัย จากภาวะความจำถดถอยตามอายุ จากภาวะความจำถดถอยที่เป็นการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จากการศึกษาจะเห็นมีสถิติของผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกถึงเกือบ 50 ล้านคน และในเมืองไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา ใน 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ถ้ามีตรวจพบว่าเป็นโรคความจำถดถอยในกลุ่มที่จะเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะเกิดโรค สามารถที่จะชะลอตัวโรคได้ โดยการดูแลตัวเองอย่างดี รวมทั้งการใช้ยาป้องกันเพื่อชะลอตัวโรค

ปัญหาในปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้อยู่ปล่อยจนเป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว ซึ่งเกินกว่าจะรักษาได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ตั้งแต่อายุ 50 ปี ถือว่าเป็นวิธีการรักษาป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีเทคนิคการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้เครื่อง PET SCAN หรือการสแกนด้วยรังสีเพื่อหาความผิดปกติของสมอง มีห้องปฏิบัติการที่สามารถผลิตสาร Pittsburgh Compound B ที่เข้าไปตรวจจับสารเบต้าอมีลอยด์ ซึ่งเป็นสารตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โดยใช้เครื่อง PET SCAN เพื่อตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์โดยไม่ต้องเจาะไขสันหลังแบบดั้งเดิม

หากเราสามารถวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้แต่เนิ่น ๆ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและผู้ป่วยปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตสามารถที่จะช่วยชะลอตัวโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อ่านหนังสือ การทำงานโดยไม่เกษียณตัวเอง เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ การพบปะพูดคุยเข้าสังคม ดูแลสุขภาพจิตให้ดี คิดบวก ลดความเครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยชะลอหรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้โรคสมองเสื่อมมีอยู่ 2 ประเภท คือโรคสมองเสื่อม สมองชนิดอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม กลุ่มที่ไม่ใช่ชนิดอัลไซเมอร์ การวินิจฉัยแยกโรคทางคลินิกพบได้บ่อยว่า มีความยากลำบากในแยกโรค จากอาการทางคลินิกอย่างเดียว  จากการศึกษาพบว่า เทคนิคการตรวจโดยใช้เครื่องมือ FDG-PET จะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จากภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ ได้ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีการแนะนำใช้การตรวจ FDG-PET มากขึ้นในการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อให้การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและให้การรักษาได้ถูกโรค

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท
ชั้น 1 และชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

ทุกวัน

จันทร์ - ศุกร์ 07:00 - 18:00 น.

เสาร์ - อาทิตย์ 07:00 - 17.00 น.