หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก รักษาเร็วไม่เสียความมั่นใจ

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ เกิดจากกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกจะกระตุกแบบนอกเหนือการควบคุม โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่เครียดหรือตื่นเต้น มักพบบ่อยในวัยกลางคน เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจทำให้เสียความมั่นใจและเป็นกังวล จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว 

รู้จักกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีกในระยะเริ่มแรกมักเริ่มต้นจากการกระตุกเบา ๆ ของกล้ามเนื้อเปลือกหรือกล้ามเนื้อบริเวณกระพุงแก้ม ทางการแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะกล้ามเนื้อกระตุกนอกเหนือการควบคุมของกล้ามเนื้อใบหน้า ได้แก่ 

  1. กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia)
  2. กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก (Blepharospasm)
  3. ใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm)

สามารถจำแนกความแตกต่างของอาการแสดงทั้งสามอย่างดังนี้

กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

อาการแสดงและการดำเนินโรค

กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia)

พบบ่อยมาก ไม่รุนแรง สร้างความรำคาญ เกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ รอบดวงตา ส่วนมากมักเป็นข้างเดียว หายได้เอง ภายใน 1 – 2 อาทิตย์

กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก (Blepharospasm)

5 – 13/100,000 ประชากร กล้ามเนื้อตาทั้งสองข้างปิด กระทบต่อความสามารถในการมองและคุณภาพชีวิต อาการเป็นซ้ำ ๆ เรื้อรัง ส่วนมากมักเป็นสองข้าง 

ใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm)

20 – 50/100,000 ประชากร เริ่มจากกระตุกหรือเกร็งกล้ามเนื้อรอบดวงตา เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะมีกล้ามเนื้อมุมปากหดเกร็ง บางครั้งเปลือกตาปิด กระทบต่อคุณภาพชีวิต มักเป็นข้างเดียวเสมอ

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีกคืออะไร

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm : HFS) คือหนึ่งในโรคเส้นประสาทสมองที่ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเกิดการกระตุกหรือหดตัวควบคุมไม่ได้ โดยจะเกิดขึ้นฝั่งใดฝั่งหนึ่งของใบหน้า มีตั้งแต่กระตุกเบา ๆ ไปจนถึงกระตุกรุนแรง มักเริ่มที่บริเวณเปลือกตาของใบหน้าในซีกที่มีอาการก่อนจะลามไปยังกล้ามเนื้อส่วนล่างของใบหน้า ในกรณีที่รุนแรงมากอาจกระตุกจนกล้ามเนื้อหดเกร็งค้าง ลืมตาไม่ขึ้น และมุมปากเบี้ยวจนผิดรูป ผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเกิดจากเส้นเลือดในสมองกดเบียดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial Nerve) ที่ทำหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อรอบดวงตา หน้าผาก มุมปาก กล้ามเนื้อชั้นตื้นบริเวณลำคอ ไม่สามารถควบคุมโรคและระยะเวลาที่เกิดโรคได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย เกิดจากเนื้องอกสมองกดเบียดบริเวณเส้นประสาท หรือในผู้ป่วยบางรายไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก รักษาเร็วไม่เสียความมั่นใจ

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีกอาการเป็นอย่างไร

  • ตาเขม่น ตากระตุกไม่รุนแรง 
  • กะพริบตาหรือปิดเปลือกตาได้โดยไม่ตั้งใจ
  • มุมปากกระตุก
  • ตาตี่หรือตาหลิ่ว 
  • ปากเบี้ยวเป็นพัก ๆ

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก รักษาเร็วไม่เสียความมั่นใจ

ลักษณะการกระตุกของใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นอย่างไร

  • กระตุกเองแบบเป็น ๆ หาย ๆ 
  • กระตุกไม่สม่ำเสมอ
  • กระตุกไม่เป็นจังหวะ
  • กระตุกและหดเกร็งร่วมด้วย
  • กระตุกพร้อมกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า (Facial Synkinesia)

ตรวจวินิจฉัยใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

  • ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางสมองและระบบประสาท
  • ตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อพิจารณารอยโรคที่เส้นประสาทหรือที่ก้านสมอง

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก รักษาเร็วไม่เสียความมั่นใจ

วิธีการรักษาใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

การรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่

  1. การใช้ยา มักเป็นการบรรเทาอาการด้วยยาลดอาการกระตุกที่ต้องรับประทานต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ อาจมีอาการง่วงซึมและเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เมื่อยาหมดฤทธิ์อาจกลับมาเป็นได้อีก 
  2. การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (Botox) เข้ากล้ามเนื้อเพื่อลดอาการกระตุก นับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี เพราะเป็นการทำหัตถการเฉพาะในตำแหน่งที่มีการกระตุก แต่จะต้องฉีดซ้ำทุก 3 – 4 เดือนตามคำแนะนำของแพทย์และพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามอาการ ที่สำคัญต้องทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อลดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดจากการรักษา อาทิ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท เป็นต้น
  3. การผ่าตัดแยกหลอดเลือดจากเส้นประสาท (Microvascular decompression: MVD) ในกรณีที่หลอดเลือดกดทับเส้นประสาทใบหน้า แพทย์เฉพาะทางจะทำการผ่าตัดเพื่อแยกหลอดเลือดบริเวณก้านสมองออกจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ผ่านกล้องไมโครสโคป ถือว่าเป็นวิธีที่รักษาที่ต้นเหตุ ที่ช่วยแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาทได้โดยตรง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ช่วยลดการกดเส้นประสาทและหยุดการกระตุกได้แบบถาวร 

ระวังปัจจัยเสี่ยงใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

  • ความเครียด วิตกกังวลกังวล หงุดหงิด โมโห
  • การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้ามากเกินไป เช่น ยิ้ม พูด ใช้สายตา ฯลฯ
  • อดนอน อ่อนเพลีย นอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลานาน

แม้ใบหน้ากระตุกครึ่งซีกจะไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาตแต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถหายขาดจากโรคได้ทำให้ผู้ป่วยเป็นๆหายๆขาดความมั่นใจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจึงควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความรุนแรงของโรคและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

พล.อ. นพ. สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา ศัลยแพทย์ด้านสมองและระบบประสาท ชำนาญด้านการรักษาใบหน้ากระตุกครึ่งซีก รพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก พร้อมให้คำแนะนำ ค้นหาสาเหตุ และดูแลรักษาใบหน้ากระตุกครึ่งซีกด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง