นิ้วล็อกสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยมักเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การใช้งานซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อายุ ฯลฯ พฤติกรรมการใช้มืออย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้ปวดโคนนิ้วมือขณะที่ขยับ งอ เหยียดนิ้วจนเป็นนิ้วล็อก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้มือตลอดทั้งวันจนแทบไม่ได้หยุดพัก
มือและนิ้วมือสำคัญอย่างไร
มือเป็นอวัยวะที่ใช้งานทุกวันและเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่นิ้วมือจะใช้งานไม่เท่ากัน โดยนิ้วโป้งจะใช้งานมากที่สุด มีความสำคัญมากที่สุดถึง 40% เพราะจับได้กับนิ้วอื่น ๆ รองลงมาคือนิ้วชี้กับนิ้วกลาง 20% นิ้วนางกับนิวก้อย 10% หากปวดบริเวณโคนนิ้วมือจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก
ปลอกหุ้มเอ็นทำหน้าที่อะไร
ปลอกหุ้มเอ็นจะอยู่ที่กระดูกแต่ละชิ้นเพื่อให้เอ็นสอดเข้าไปได้ เอ็นเปรียบเสมือนรถไฟ ปลอกหุ้มเอ็นเปรียบเสมือนถ้ำที่รถไฟวิ่งผ่าน เมื่อเกิดการอักเสบหรือบวมเกิดขึ้น ถ้ำขยายไม่ได้ ทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างผิวเอ็นกับถ้ำ ซึ่งการอักเสบและพังผืดเกิดได้ทั้ง 2 ด้านของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น
นิ้วล็อกคืออะไร
นิ้วล็อกเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นและเอ็นอักเสบบริเวณฝ่ามือตรงโคนนิ้วแต่ละนิ้ว เมื่อผิวเอ็นเกิดการบาดเจ็บ อักเสบ และบวม (Injury and Inflammation) ทำให้ขยับนิ้วแล้วมีอาการเจ็บ จนเวลาผ่านไปการอักเสบทำให้เกิดการสมานแผล (Healing) การบาดเจ็บต่อเอ็นในฝ่ามือ ตามมาด้วยการเกิดพังผืดและแผลเป็น (Fibrosis and Scar Formation) เมื่อเกิดแผลเป็นก็ไปเบียดปลอกหุ้มเอ็น เกิดการเสียดสีเยอะขึ้น ทำให้อักเสบซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง มีการบวมและพังผืดเกิดขึ้นจนเป็นนิ้วล็อก และทำให้ช่องในปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือแคบลง ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งสองมือ
อาการนิ้วล็อกเป็นอย่างไร
- ปวดโคนนิ้วมือ
- สะดุดเมื่อขยับ งอ และเหยียดนิ้ว
- งอนิ้วไม่ได้ นิ้วเหยียดออกไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
- ขยับนิ้วก็เจ็บ จับอะไรก็เจ็บ เคลื่อนไหวนิ้วเร็ว ๆ ก็เจ็บ
- นิ้วล็อกสามารถเกิดพร้อมกับอาการมือชาจากเส้นประสาทได้
- อาการอาจเป็นการปวดที่โคนนิ้วอย่างเดียว หรือเกิดร่วมกับอาการล็อกของนิ้วมือได้ (Triggering) โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน
รักษานิ้วล็อกได้อย่างไร
การรักษานิ้วล็อกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
- 1) การรับประทานยา ใช้ในการรักษาโรคนิ้วล็อกระยะแรก โดยแพทย์จะให้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือในชีวิตประจำวัน
- 2) การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ใช้ในการรักษาโรคนิ้วล็อกที่คนไข้มีอาการปวดมาก กินยาไม่ได้ผลดี
- 3) การขยายปลอกหุ้มเอ็น ใช้ในการรักษาโรคนิ้วล็อก งอเหยียดไม่ได้ ฉีดยาแล้วอาการกลับมาเป็นซ้ำหลายครั้ง
ขยายปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือ ปลดล็อกอาการนิ้วล็อก
การขยายปลอกหุ้มเอ็นโดยการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นบริเวณฐานนิ้วมือให้ขยายกว้างขึ้น และใช้อุปกรณ์พิเศษสอดเข้าไปเพื่อตัดหุ้มเอ็นให้ขยายออก ทำให้เส้นเอ็นผ่านได้สะดวก ลดความปวด ขยับได้คล่องมากขึ้น ใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ระยะเวลาในการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง แผลมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดขยับมือได้ปกติ แต่ห้ามยกของหนัก ห้ามออกกำลังกายใช้แรง เมื่อครบ 1 สัปดาห์ แพทย์จะทำการนัดตัดไหม เมื่อครบ 2 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถใช้งานมือได้ตามปกติ
การฉีดยาสเตียรอยด์รักษาโรคนิ้วล็อกมีผลข้างเคียงหรือไม่
การฉีดยาสเตียรอยด์รักษาโรคนิ้วล็อกเป็นการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ คือสเตียรอยด์จะอยู่เฉพาะบริเวณนั้น ไม่ได้เข้าไปในร่างกาย เมื่อฉีดยาไปแล้วจะช่วยให้อาการปวดหายไป ลดการอักเสบ ลดการบวม ทำให้เส้นประสาทคลายตัวได้ดีขึ้น อาการชาจะค่อย ๆ ฟื้นคืนจากการที่เส้นประสาทฟื้นตัว โดยยาจะสลายไปจนหมดประมาณ 2 สัปดาห์
ป้องกันนิ้วล็อกได้อย่างไร
- ไม่ถือหรือหิ้วของหนักเกินไป
- เมื่อใช้มือติดกันเป็นเวลานาน ควรพักมือเป็นระยะ ยืดกล้ามเนื้อมือสม่ำเสมอ
- เลี่ยงการบิดผ้าแรง ๆ การใช้ข้อมือกำแน่น
- อย่าหักนิ้ว ดีดนิ้วเล่น
- หากมีอาการข้อฝืดให้นำมือแช่ในน้ำอุ่นและกำแบมือเบา ๆ
แพทย์ที่ชำนาญการรักษานิ้วล็อก
นพ.ณธพณ จันทรเสโน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษานิ้วล็อก
โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมดูแลรักษาโรคนิ้วล็อก ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการ แพทย์สหสาขาวิชาชีพ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้กลับไปใช้มือได้ตามปกติอีกครั้ง