ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headache) เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 – 3 เท่า มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน
ประเภทปวดศีรษะไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ อาการเตือนอื่น ๆ เช่น อาการชาที่มือ แขน หรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
สาเหตุปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้า ๆ (ทำให้เกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด
ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาช้าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบรับความเจ็บปวดในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงขึ้น ความถี่ของการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด อาจพบอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่บริเวณรอบกระบอกตาหรือหนังศีรษะได้ และพบความผิดปกติของสมองจากการตรวจด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (พบสมองฝ่อเล็กลงและมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองสีขาว)
อาการปวดศีรษะไมเกรน
ลักษณะอาการปวดศีรษะที่จำเพาะกับปวดศีรษะไมเกรน คือ
- ปวดศีรษะข้างเดียว อาจย้ายข้างได้ แต่มักเป็นทีละข้าง
- ลักษณะการปวดเป็นแบบตุ้บ ๆ (คล้ายเส้นเลือดเต้น)
- ความรุนแรงของอาการปวดจะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
- การทำกิจวัตรทั่วไป เช่น การเดินหรือขึ้นบันได จะทำให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้น
- อาการจะดีขึ้นถ้าได้พักผ่อนอยู่นิ่ง ๆในห้องที่มืดและเย็น
- ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับรักษาไม่เหมาะสม อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4 – 72 ชั่วโมง
- อาการร่วมอื่น ๆ ที่พบร่วมกับอาการปวดศีรษะ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง ไม่อยากเห็นแสงจ้า ไม่อยากได้ยินเสียงดัง
ในผู้ป่วยบางรายจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นมา เช่น ภาวะเครียด, การอดนอน, การนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา, ช่วงที่เป็นประจำเดือน, กลิ่นหรือควัน, การเปลี่ยนแปลงของอากาศหรือความร้อน, แสงแดด, อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง, ชีส, ไวน์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น
ดูแลตนเองเมื่อป่วยไมเกรน
- สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke)
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
- ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
รักษาไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง การรักษาปวดศีรษะไมเกรน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะเท่านั้นและให้รับประทานยาหลังจากที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะทันทีจะได้ผลการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดี
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
- ยาที่เฉพาะเจาะจงกับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (triptan) หรือ ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (ergotamine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง
- ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
2. ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ (ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน) ต้องรับประทานติดต่อกันทุกวัน
- กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propanolol, Atenolol, Metoprolol เป็นต้น
3. กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Duloxetine, Velafaxine เป็นต้น
กรณีมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน สามารถรับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มทริปแทนช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 – 3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมดประจำเดือน 4 – 5 วัน