เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิด โดยเฉพาะอุบัติเหตุกับข้อสะโพกที่ส่งผลกับการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมากก็มีโอกาสต้องพบเจอ ซึ่งการรักษาจะพิจารณาจากความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยใช้การผ่าตัดดามโลหะกระดูกสะโพกเข้ามาช่วย แต่หากเกิดปัญหาหลังจากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุที่เกิดกับข้อสะโพกมีความรุนแรงมากอาจจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเพื่อให้กลับไปเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง
อุบัติเหตุที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
อุบัติเหตุข้อสะโพกที่ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ได้แก่
- อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้กระดูกสะโพกแตกหัก ส่งผลให้ผิวข้อสะโพกไม่เรียบ ในกรณีนี้เมื่อใช้งานข้อสะโพกไปเรื่อย ๆ ข้อสะโพกจะมีโอกาสเสื่อมก่อนวัยอันควร เนื่องจากผิวข้อสะโพกไม่เรียบ ผิวขรุขระ
- หมอนรองกระดูกสะโพกฉีกขาด จากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นกีฬาที่มีการงอสะโพกเยอะ ๆ เช่น เบสบอล บาสเกตบอล เทนนิส ยิมนาสติก ในกรณีนี้ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสะโพกฉีกขาด ทำให้การใช้งานสะโพกเสียดสีกัน เกิดข้อสะโพกเสื่อมได้
- กระดูกสะโพกหักแล้วได้รับการผ่าตัดดามโลหะกระดูกสะโพกแล้วต้องมาซ่อม เนื่องจากการผ่าตัดล้มเหลวส่งผลให้เกิดหัวสะโพกยุบหรือหัวสะโพกตาย
ในกรณีที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุแล้วต้องเข้ารับการรักษากระดูกสะโพกหักด้วยการผ่าตัดดามโลหะแล้วเกิดความล้มเหลว แพทย์เฉพาะทางจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 – 3 เดือน
สะโพกตายกับการผ่าตัดดามโลหะ
การผ่าตัดดามโลหะกระดูกสะโพก อาจทำให้สะโพกตายได้ เนื่องจากการผ่าตัดดามโลหะข้อสะโพกอาจรบกวนการหมุนเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงข้อสะโพก ส่งผลให้หัวสะโพกขาดเลือดและหัวสะโพกตายได้ นอกจากนี้โลหะอาจสามารถทะลุเข้าไปในข้อสะโพก ทำให้หัวสะโพกเสื่อมก่อนวัย กระดูกสะโพกตายก่อนวัยอันควร จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ความเสี่ยงจากการผ่าตัดดามโลหะกระดูกสะโพก
- โอกาสติดเชื้อสูงขึ้น
- โอกาสกระดูกหักขณะผ่าตัดสูงขึ้น เนื่องจากแพทย์ต้องทำการนำเอาโลหะดามข้อสะโพกออกก่อนแล้วจึงทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
เพราะอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกสะโพกหักสามารถพบได้ในคนที่อายุน้อย เนื่องจากการทำกิจกรรมที่ค่อนข้างโลดโผน อย่างการขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเล่นกีฬาที่ค่อนข้างอันตราย ดังนั้นจึงเพิ่มโอกาสที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม แต่ในปัจจุบันด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ นอกจากซ่อนแผลผ่าตัดบริเวณขาหนีบ เนื่องจากทำการผ่าตัดทางด้านหน้าและไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใด ๆ แล้ว ยังเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว เคลื่อนไหวสะดวก อยู่โรงพยาบาลเพียง 2 – 4 วันก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น