อัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการแค่เรื่องความจำ แต่ยังมีปัญหาเชิงพฤติกรรมร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันโรคอัลไซเมอร์จะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้
โรคอัลไซเมอร์คืออะไร
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เกิดจากความเสื่อมของการทำงานของสมอง มาจากความผิดปกติของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง จากโปรตีนชื่อว่าเบตา–อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) และทาว (Tau) มีผลทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง สูญเสียการทำงาน ความทรงจำเสียหาย และทำลายสมองส่วนอื่น ๆ จนเกิดความผิดปกติของความคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน
คุณกำลังเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคทางสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย 60 – 80% โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่ได้มีอาการแค่เรื่องความจำ แต่จะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมร่วมด้วย และจะเริ่มจากบกพร่องเล็กน้อยไปจนถึงสมองเสื่อม เพราะฉะนั้นหากตอนนี้คุณมีปัญหาด้านพฤติกรรมและความจำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเช็กความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้
อาการที่สังเกตได้เบื้องต้นคือ
- หลงลืม
- จำเรื่องที่เพิ่งผ่านไปไม่ได้
- ถามหรือพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ
- หาของไม่เจอ หลงบ่อย
- สื่อสารไม่ได้ นึกคำไม่ออก ใช้คำผิด
- ไม่มีสมาธิ จดจ่อได้ไม่นาน
- บริหารจัดการ วางแผน แก้ไขปัญหา ใช้เหตุผลไม่ได้
- หวาดระแวง วิตกกังวล หยาบคาย เศร้า ท้อแท้ เฉื่อยชา
ปัจจัยเสี่ยงอัลไซเมอร์
ปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ประกอบไปด้วย
- อายุมากกว่า 65 ปี
- ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
- สูบบุหรี่
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันที่คุมไม่ดี
- นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีภาวะซึมเศร้า
- อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางสมองรุนแรง
- ภาวะหูตึงหรือการได้ยินที่ลดลง
- ฝุ่น PM 2.5
- ภาวะน้ำหนักเกิน
- การไม่ได้พบปะผู้อื่นหรือเข้าสังคม และการไม่มีกิจกรรมทางกาย (Physical Inactivity)
การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
หากมีอาการและความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์เฉพาะทางด้านความจำได้แก่
- แบบทดสอบการทำงานของสมองอย่างละเอียด
- เจาะเลือด เช่น การทำงานของไทรอยด์และระดับวิตามินในเลือด
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง
- การตรวจด้วย PET Scan (FDG, Amyloid, Tau PET Scan)
- การตรวจเลือดหาสาร Amyloid, Tau (ยังไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป อยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัยและใช้ในงานวิจัยเป็นหลัก)
การรักษาโรคอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร
การรักษาโรคอัลไซเมอร์มีทั้งแบบไม่ใช้ยาและใช้ยา ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา ได้แก่
- การทำกายภาพบำบัด
- การฝึกสมอง
- การเล่นเกมต่าง ๆ
- การฝึกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- การออกกำลังกาย มีสุขอนามัยการนอนที่ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลเรื่องน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี และแก้ไขเรื่องการได้ยินหากมีความผิดปกติ
- การรักษาแบบใช้ยา ต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่
- การใช้ยาชะลอไม่ให้สมองเสื่อมเพิ่มขึ้น
- การใช้ยาปรับอาการทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น อาการวุ่นวายสับสน อาการกระสับกระส่าย อาการทางจิต ภาวะนอนไม่หลับ เป็นต้น
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาอัลไซเมอร์
นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาอัลไซเมอร์
โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา ฟื้นฟูและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น