การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมคือการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ กระดูกตายหรือแตกหักออก และทดแทนข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม (Prosthesis) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหว คล้ายคลึงการเคลื่อนไหวของข้อจริงมากที่สุด
สาเหตุปวดข้อสะโพกเรื้อรัง
สาเหตุที่พบบ่อยของการปวดข้อสะโพกเรื้อรัง คือ โรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อเสื่อมจากอุบัติเหตุ
- โรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด (Avascular necrosis) เป็นภาวะที่หัวกระดูกสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้หัวกระดูกสะโพกยุบตัวพบบ่อยในคนที่มีอายุประมาณ 30 – 40 ปี สาเหตุมักเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสเตียรอยด์, อุบัติเหตุกระดูกสะโพกเคลื่อนหรือคอกระดูกสะโพกหักเคลื่อน และการฉายรังสีบริเวณกระดูกสะโพก
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) มักเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปีและบ่อยครั้งมีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อม บางครั้งอาจเกิดจากการกระตุ้นให้ผิวข้อไม่เรียบแต่กำเนิด เมื่อผิวข้อสะโพกที่ไม่เรียบมาเสียดสีกันก็เป็นเหตุให้ปวดข้อสะโพกและมีการเคลื่อนไหวที่ติดขัด
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ ก่อให้เกิดอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ เกิดได้กับข้อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย มีอาการอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ เกิดการทำลายของผิวข้อ ผู้ป่วยมักมีอาการหลายข้อ ที่พบบ่อยคือข้อนิ้วมือ มักมีอาการข้ออักเสบมาเป็นเวลานาน
- โรคข้อเสื่อมจากอุบัติเหตุ (Traumatic Arthritis) เกิดตามหลังการบาดเจ็บหรือกระดูกหักบริเวณข้อสะโพกผิวข้ออาจถูกทำลาย หรือเกิดภาวะหัวสะโพกขาดเลือด ทำให้เกิดการปวดสะโพกข้อยึดเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมในที่สุด
- โรคคอกระดูกสะโพกหัก (Femoral neck fracture) พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนที่ประสบอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสะโพก
- ข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital Hip diseases) เป็นข้อสะโพกเสื่อมที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อสะโพกพัฒนาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่มีอาการเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น
เมื่อไรที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การตัดสินใจรับการผ่าตัดควรทำร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และศัลยแพทย์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะมีอายุระหว่าง 60 – 80 ปี ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ความเจ็บปวด ความทุพพลภาพ และสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย แพทย์จะประเมินข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดของผู้ป่วยและร่วมกันพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
- เจ็บปวดข้อสะโพกมาก จนจำกัดกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินหรือการงอสะโพก
- เจ็บปวดสะโพกเกิดขึ้นตลอดเวลาในขณะพัก ทั้งกลางวันและกลางคืน
- ปวดตึงในข้อสะโพก จนจำกัดความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือการยกขา
- เมื่อรับการรักษาทางยาอย่างเต็มที่ ร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัดและการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ผู้ป่วยก็ยังมีอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการบรรเทาเพียงเล็กน้อย
- เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา
- กระดูกสะโพกหักชนิดที่ไม่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยวิธีใช้โลหะยึดดามกระดูก
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ
เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ไม่ตัดกล้ามเนื้อ ซ่อนแผลผ่าตัดแผลเล็ก ลดแผลเป็น เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว เคลื่อนไหวสะดวก (Direct Anterior Approach Cosmetic Incision Hip Replacement) หรือ Direct Anterior Approach (Minimally Invasive) Total Hip Replacement มีข้อดี ดังนี้
- ปวดลดลง
- ฟื้นตัวไวขึ้น เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ
- แผลผ่าตัดเล็กลง
- แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมในการผ่าตัดซ่อมได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบปกติ
- อัตราการหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำ
- ขณะผ่าตัดแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษเพื่อตรวจสอบการวางตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่
- ใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี (Computer Navigation) ในการตรวจสอบตำแหน่งของข้อสะโพกเทียม
- ประเมินความยาวขาหลังผ่าตัดให้มีความยาวเท่ากันได้ง่าย
ข้อห้ามเมื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
- ข้ออักเสบติดเชื้อที่ยังมีการอักเสบอยู่
- ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกอ่อนแรงมากและอาจทำให้ข้อสะโพกหลุดเคลื่อนได้ง่าย
- ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่จะมีผลกระทบต่อข้อสะโพกที่จะทำผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่มีโรคเลือดหรือหลอดเลือดที่มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง
- ผู้ป่วยที่เกิดภาวะกระดูกพรุนที่รุนแรงมากบริเวณข้อสะโพก
- ผู้ป่วยที่อ้วนมาก ๆ
ส่วนประกอบข้อสะโพกเทียม
ข้อสะโพกเทียมมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่
- เบ้าสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ ยึดกับเบ้าสะโพกที่กระดูกเชิงกราน
- ส่วนผิวเบ้าสะโพก ทำมาจากพลาสติกชนิดพิเศษ ทำหน้าที่เป็นผิวสัมผัสกับหัวสะโพกเทียม
- ส่วนหัวสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ มีรูปร่างกลมคล้ายกับกระดูกหัวสะโพกเดิม
- ก้านสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ ยึดเข้าไปกับโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้น
ยึดข้อสะโพกเทียมกับกระดูก
วิธียึดข้อสะโพกเทียมกับกระดูกมี 2 วิธี ขึ้นอยู่กับสภาพกระดูกสะโพกของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่
- การใช้ซีเมนต์ชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับยึดกระดูกกับข้อเทียม
- การยึดข้อเทียมกับกระดูกโดยไม่ใช้ซีเมนต์ ซึ่งกรณีนี้ข้อเทียมจะมีพื้นผิวแบบขรุขระ เนื้อกระดูกจะฝังตัวเข้าที่พื้นผิวนี้
ผลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมจะมีอาการปวดสะโพกลดลงอย่างมาก การใช้งานและการเคลื่อนไหวรวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัด ข้อสะโพกเทียม ไม่สามารถทำให้กลับไปทำกิจกรรมได้มากกว่าก่อนที่จะมีปัญหาปวดข้อสะโพกได้
อายุการใช้งานข้อสะโพกเทียม
ข้อสะโพกเทียมอาจมีความทนทานต่อการใช้งานในผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นสาเหตุ เช่น กิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย น้ำหนักตัว เทคนิคการผ่าตัดของแพทย์โดยทั่วไปข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 20 – 25 ปี ถ้าได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการและไม่มีภาวะแทรกซ้อน
เตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
- ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลตลอดจนขบวนการเปลี่ยนแปลงหลังจากการผ่าตัด รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเทียม ข้อดี และประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม รวมถึงข้อเสียและข้อแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- การประเมินสุขภาพทั่วไป เมื่อผู้ป่วยตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนได้รับการผ่าตัด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเอกซเรย์ปอด, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจอื่น ๆ ตามความจำเป็น
- การเตรียมผิวหนังบริเวณที่จะรับการผ่าตัด ผิวหนังบริเวณที่จะผ่าตัดจะต้องไม่มีภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบ ถ้าเกิดมีอาการดังกล่าวควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนได้รับการผ่าตัด
- การบริจาคเลือด การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมจะมีการเสียเลือด ผู้ป่วยบางรายมีเปอร์เซ็นต์เม็ดเลือดแดงสูง สามารถเลือกเก็บเลือดของตัวเองไว้สำรอง เพื่อนำไปใช้กับตนเองภายหลังการผ่าตัด
- ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ารับประทานยาอะไรอยู่บ้าง แพทย์จะแนะนำว่ายาประเภทใดที่ต้องหยุด หรือสามารถรับประทานได้จนถึงวันผ่าตัด ยาและสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ควรจะต้องหยุดรับประทานอย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าตัด
- การลดน้ำหนัก ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักมาก แพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการผ่าตัด
- การประเมินสุขภาพช่องปากและฟัน ผู้ป่วยจะต้องไม่มีปัญหาการติดเชื้อที่ช่องปากและฟัน
- การตรวจปัสสาวะ ถ้าผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็น ๆ หาย ๆ หรือในผู้ชายที่มีความผิดปกติของต่อมลูกหมาก มีความจำเป็นที่ต้องพบแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อร่วมประเมินก่อนการผ่าตัด
ผ่าตัดและหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
วันผ่าตัด
วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการระงับปวดและระงับความรู้สึก ศัลยแพทย์จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ศัลยแพทย์จะเปิดผิวหนังด้านข้างของสะโพก ตัดส่วนหัวของกระดูกต้นขาออก เตรียมโพรงกระดูกสำหรับใส่ข้อเทียม ทดลองใช้ตัวลองข้อเทียมเพื่อเลือกขนาดที่เหมาะสมและทดสอบการเคลื่อนไหว ตามด้วยใส่ข้อเทียม ส่วนก้านในโพรงกระดูก ต้นขา และต่อส่วนหัวของข้อเทียมเข้ากับส่วนก้าน หลังจากนั้นแพทย์จะล้างใส่สายระบายเลือดและเย็บปิดแผล หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะอยู่ในห้องพักฟื้นเพื่อติดตามอาการหลังผ่าตัด ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนจะย้ายไปพักในห้องอภิบาลเฉพาะ 1 คืนและย้ายขึ้นห้องพักผู้ป่วยปกติ อีก 4 – 5 วันก่อนจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
หลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะตื่นจากการผ่าตัดพร้อมกับมีสายและอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ติดอยู่กับร่างกาย
- ผู้ป่วยอาจมีอาการพะอืดพะอมหรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการดมยาสลบและยาแก้ปวด
- ให้ความร่วมมือและทำตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลที่ดูแลหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับปวดอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดมากก็ไม่มีความจำเป็นต้องทนปวด ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที
- หลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนทางปอดหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้หายใจเข้าออกลึก ๆ และไอออกหากมีเสมหะ
- ป้องกันข้อสะโพกเทียมหลุดในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ ๆ การจัดท่านั่งและนอน เช่น การวางหมอนระหว่างขา เป็นสิ่งที่จำเป็น
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกเดินในวันรุ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ผู้ป่วยที่นั่ง ยืน หรือเดินได้เร็ว ก็ช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- นักกายภาพจะมีโปรแกรมการสอนผู้ป่วยให้ทราบ ท่าบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ข้อสะโพกและทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมค่อนข้างต่ำ ทีมแพทย์และพยาบาลจะดำเนินการตามมาตรฐานทางการรักษาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ให้มีโอกาสเกิดน้อยที่สุด สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- การติดเชื้อของแผลผ่าตัด
- ความไม่มั่นคงของข้อ ข้อเทียมหลุดหลวมหรือเคลื่อน
- กระดูกหักบริเวณรอบ ๆ ข้อเทียม
- ข้อเทียมชำรุด หัก หรือมีหินปูนจับรอบ ๆ ข้อเทียม
- เจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด
- แนวขาผิดปกติหรือยาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัด
- เกิดพยาธิสภาพต่อเส้นเลือด เส้นประสาท
- เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- งอข้อสะโพกไม่ได้เท่าที่ควร
- ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางอายุรกรรม
เตรียมตัวพักฟื้นหลังผ่าตัด
เมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะสามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์พยุงเดิน แต่ยังคงต้องระมัดระวังในการทำกิจวัตรต่าง ๆ การปรับปรุงสภาวะแวดล้อมที่บ้านจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
- ควรติดตั้งราวจับบริเวณห้องน้ำและที่อาบน้ำ
- ควรติดตั้งราวจับตามทางเดินและบันได
- ควรเตรียมเก้าอี้ที่แข็งแรง มีพนักพิงและมีที่วางแขน เก้าอี้ต้องมีระดับความสูงที่เหมาะสม เมื่อนั่งแล้วข้อเข่าควรอยู่ต่ำกว่าข้อสะโพกเล็กน้อย
- ควรเตรียมที่นั่งเสริมบนชักโครก
- ควรเตรียมเก้าอี้ที่แข็งแรงไว้สำหรับนั่งอาบน้ำ
- ควรเตรียมที่ถูสบู่แบบมีมือจับและมีฝักบัวที่สามารถถือได้
- ควรเตรียมไม้เท้าที่จะช่วยให้หยิบจับของในระดับต่ำได้ง่าย
- ควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยใส่รองเท้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องงอสะโพกมากเกินไป
- ควรเคลื่อนย้ายสิ่งของไม่ให้กีดขวางทางเดิน
- ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำหรือเปียกชื้น
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีกากใยเพื่อป้องกันท้องผูก
- บริหารร่างกายเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของแพทย์
- ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกผู้ป่วยยังคงต้องใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดินพร้อมกับเพิ่มระยะทางการเดินขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ
- ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกชาบริเวณผิวหนังรอบแผลผ่าตัด หรือรู้สึกตึง ๆ โดยเฉพาะเวลางอสะโพกมาก แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นตามเวลา
- ผู้ป่วยสามารถขับรถยนต์และออกกำลังกายเบา ๆ ได้หลังผ่าตัด 4 -6 สัปดาห์ ทั้งนี้ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ดูแลและให้คำแนะนำที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะผู้ป่วยแต่ละท่าน
- โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกหายดี หลังจากได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 3 – 6 เดือน
อาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที
- มีไข้สูง หนาวสั่น หรือปวดบวมแดง รอบแผลผ่าตัด
- มีเลือดหรือหนองซึมจากแผลผ่าตัด
- มีอาการปวดสะโพกมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวหรืออยู่กับที่
ข้อควรระวัง
เพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อป้องกันข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุด ผู้ป่วยต้องปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการไขว้ขา
- ใช้หมอนแทรกระหว่างขาเวลานอนหลับตอนกลางคืนจนกว่าแพทย์จะอนุญาตว่าไม่ต้องใช้
- ป้องกันการล้ม โดยใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน จนกว่าข้อสะโพกจะแข็งแรงพอและเคลื่อนไหวได้ดี
- หลีกเลี่ยงการงอข้อสะโพกมากกว่า 90 องศา เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งเตี้ยๆ หรือโน้มตัวก้มเก็บของจากพื้น
- ห้ามบิดหมุนเท้าเข้าในหรือออกนอกมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงการวิ่ง หรือ กระโดด เพราะทำให้ข้อหลุดหลวม หรือแตกหักได้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การดันสิ่งของ และการหมุนตัวอย่างแรง
- หลี่กเลี่ยงการก้มพร้อมกับยันลงน้ำหนัก เช่น การปีนเขา หรือบันไดที่ชัน
ข้อควรปฏิบัติ
- ควรมาพบแพทย์ตามนัดเสมอ
- ควรออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อตามที่ฝึกปฏิบัติขณะอยู่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วน
- ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทุกครั้งก่อนทำฟันว่าท่านมีข้อสะโพกเทียม เพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน
- ผู้ป่วยควรนำบัตรแสดงการมีข้อเทียมโลหะอยู่ในร่างกายติดตัวไปด้วย เมื่อต้องผ่านอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น ที่สนามบิน
เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ไม่ตัดกล้ามเนื้อ ซ่อนแผลผ่าตัด แผลเล็ก ลดแผลเป็น เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว เคลื่อนไหวสะดวก