หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / //video /
ความเชื่อกับโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนมีกี่ประเภท

โรคกระดูกพรุนมี 2 ประเภท ได้แก่

  1. โรคกระดูกพรุนปฐมภูมิ คือ โรคกระดูกพรุนที่พบในผู้หญิงวัยทองและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตามธรรมชาติเมื่ออายุครบ 50 ปีหรือช่วงที่ผู้หญิงหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดลง แม้โรคกระดูกพรุนจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ที่พบมากและต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษคือผู้สูงอายุ 
  2. โรคกระดูกพรุนทุติยภูมิ คือ โรคกระดูกพรุนที่มีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ หรือการรับประทานยาบางชนิด สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ 

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ใช่หรือไม่

โรคกระดูกพรุนส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น มีประวัติบิดามารดากระดูกสะโพกหัก แสดงว่าลูกมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักสูงเช่นเดียวกัน อาจเรียกได้ว่า 40% ของโรคกระดูกพรุนเกิดจากผู้ป่วยที่มีกรรมพันธุ์ ทำให้กระดูกสลายตัวเร็ว ส่วนอีกประมาณ 50% – 60% ของโรคกระดูกพรุนเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ออกกำลังกาย ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีไม่เพียงพอ โรคประจำตัวบางชนิด โรคกระดูกพรุนจึงเป็นส่วนผสมระหว่างกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว


โรคกระดูกพรุนจากกรรมพันธุ์เป็นอย่างไร

โรคกระดูกพรุนจากกรรมพันธุ์มียีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้อง เช่น ยีนเกี่ยวกับการสร้างคอลลาเจน ยีนเกี่ยวกับการกระตุ้นให้มีการสลายกระดูกต่าง ๆ เป็นต้น ไม่ได้เกิดจากยีนเพียงตัวเดียวที่กำจัดออกไปได้ จึงต้องใช้การรักษาที่มีในปัจจุบัน คือ การรับประทานแคลเซียม การรับประทานวิตามินดี การออกกำลังกาย ยารักษาโรคกระดูกพรุนที่เหมาะกับแต่ละบุคคล รวมทั้งการตรวจรายบุคคล ซึ่งการตรวจเพียงครั้งเดียวไม่สามารถสรุปความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้ว่าใครเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากหรือน้อยกว่ากัน


กินแคลเซียมทุกวันกระดูกไม่พรุนแน่นอนจริงหรือไม่

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เพราะเป็นวัยที่มีการสลายของกระดูกมาก มีการขับแคลเซียมออกจากร่างกายมาก จึงต้องรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ แต่การรับประทานแคลเซียมอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่าจะไม่เป็นโรคกระดูกพรุน หากผู้ป่วยมีอัตราการสลายกระดูกและขับแคลเซียมมากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหัก จึงต้องรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลร่วมด้วย 


ปริมาณแคลเซียมที่แต่ละช่วงอายุควรได้รับเป็นอย่างไร

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็น ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำแตกต่างกันไปตามช่วงวัย ได้แก่

  • เด็ก เนื่องจากกระดูกมีขนาดเล็ก ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับต่อวันจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ อยู่ที่ 600 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป การรับประทานแคลเซียมอาจช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะมวลกระดูกมาถึงจุดสูงสุด แต่ถ้าไม่ต้องการให้มีการสลายตัวของกระดูกมากขึ้น แนะนำปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับ 600 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ต้องรับประทานแคลเซียมมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อร่างกาย ปริมาณที่ควรได้รับอยู่ที่ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน 
  • ผู้สูงอายุ ควรเสริมแคลเซียม เพราะมวลกระดูกเริ่มสลายตัว ปริมาณที่ควรได้รับอยู่ที่ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและสภาพร่างกาย 

การตากแดดรับวิตามินดีป้องกันกระดูกพรุนได้ดีจริงหรือไม่

วิตามินดีเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุน แต่ร่างกายจะได้รับวิตามินดีจากแสงแดดจัด ซึ่งเป็นแดดที่ดีที่สุดในการทำให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี เมื่อแดดมากระทบผิวหนัง ใต้ผิวหนังจะมีสารต้นกำเนิดของวิตามินดี แสงแดดจะทำให้สารต้นกำเนิดเปลี่ยนไปเป็นวิตามินดี ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับวิตามินดีคือ 9.00 – 15.00 . และแสงแดดต้องสัมผัสผิวหนังโดยตรง ซึ่งในผู้สูงอายุอาจเกิดการระคายเคืองผิวได้ เพราะผิวไม่ดีเหมือนตอนหนุ่มสาว จึงแนะนำให้รับประทานวิตามินดีเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ซึ่งปัจจุบันมีวิตามินดีทั้งในอาหารเสริมและยา 


ต้องล้มหรือไม่กระดูกพรุนจึงหัก

การล้มเป็นปัจจัยหลักของกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ไม่จำเป็นว่าต้องล้มทุกครั้งกระดูกถึงหัก เพราะกระดูกสันหลังสามารถหักได้แม้ไม่ล้ม ซึ่งสาเหตุที่กระดูกสันหลังหักมาจากการรับน้ำหนักของร่างกาย หรือกระดูกยุบจากโรคกระดูกพรุน ทั้งยุบแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือยุบได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติการล้มมาก่อน เพราะฉะนั้นกระดูกหักจากการล้มจะไม่ใช่กระดูกสันหลัง แต่เป็นกระดูกส่วนอื่น เช่น กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกแขน เป็นต้น