ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด โรคลมร้อน พบมากในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด จนอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจนไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้ารับมือไม่ทัน
ฮีทสโตรกคืออะไร
ฮีทสโตรก (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป โดยจะวัดจากอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย หากวัดแล้วมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะถือว่าอุณหภูมิร่างกายร้อนมากกว่าปกติ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายหากไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที มีโอกาสพิการและเสียชีวิต
ทำไมถึงฮีทสโตรกในหน้าร้อน
ร่างกายมีการระบายความร้อนได้หลายทาง แต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดฮีทสโตรก ได้แก่
- การระบายความร้อนของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะเพิ่มการสูบฉีดหัวใจเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงตามร่างกายได้ดีขึ้น ความร้อนจะค่อย ๆ ถูกขับออกทางผิวหนัง แต่ในเด็กและผู้สูงวัยต้องระวัง เพราะระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าวัยอื่น
- ปัญหาเรื่องการขับเหงื่อ เช่น ในผู้สูงอายุที่รับประทานยาบางชนิด อาจทำให้ร่างกายสะสมความร้อนเพิ่มขึ้น ขับเหงื่อได้น้อยลง เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้วระบายความร้อนไม่ทันก็ทำให้เป็นฮีทสโตรกได้
- ออกกำลังกายหนักเกินไป ส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน เพราะเก็บความร้อนไว้มากเกินไป อาจเกิดฮีทสโตรกตามมาได้
อาการร้อนจนฮีทสโตรกเป็นอย่างไร
ในช่วงแรกของการเป็นฮีทสโตรกจะเกิดความผิดปกติของระบบประสาทก่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่
- ระบบประสาท ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ พูดสับสน ตอบสนองช้า สมองบวม เกิดการชัก เซลล์สมองเสียหาย
- หัวใจ เกิดการบาดเจ็บของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจวายได้
- ตับ ไต อาจเกิดตับวาย ไตวายแบบเฉียบพลัน
- ปอด อาจมีปัญหาปอดอักเสบถึงขั้นวิกฤติจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
- เลือด อาจมีการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ เส้นเลือดอุดตัน เลือกออกได้ง่าย
- กล้ามเนื้อ อาจเกิดตะคริว เกิดการทำลายกล้ามเนื้อ เสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลาย
กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรกคือใคร
คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสร้อนจัดจนเป็นฮีทสโตรกได้ แต่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยกลุ่มที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) เพราะเกิดฮีทสโตรกได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น รวมทั้งเมื่อฮีทสโตรกจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงควรใส่เสื้อผ้าให้เบาสบายและสามารถระบายเหงื่อได้ดี เลือกใส่เสื้อสีอ่อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนจัด หรือถ้ามีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ควรมีเวลาทำงานและเวลาพักที่เหมาะสม รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติของฮีทสโตรกอย่างใกล้ชิด
ทำไมเด็กถึงเสี่ยงฮีทสโตรกมากกว่าวัยอื่น
เด็กเป็นวัยที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายตามวัยมากกว่าวัยอื่น ร่างกายจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็ว ประกอบกับพื้นที่ผิวของร่างกายเด็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักของร่างกายมากกว่าวัยอื่น เมื่อโดนแดดร้อนร่างกายจะรับความร้อนได้มากกว่า รวมถึงระบบไหลเวียนเลือดของเด็กไปตามผิวหนังอาจจะน้อยกว่าวัยอื่น จึงขับความร้อนได้น้อยกว่า มีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น และพฤติกรรมเด็กไม่ค่อยชอบดื่มน้ำจึงขาดน้ำได้ง่าย จึงต้องระวังฮีทสโตรกในเด็กมากเป็นพิเศษ
นักกีฬาเสี่ยงฮีทสโตรกมากกว่าคนปกติหรือไม่
นักกีฬาได้รับการฝึกฝนมากกว่าคนทั่วไปจึงสามารถทนต่ออากาศร้อนได้มากกว่า แต่ในบางกรณีที่นักกีฬาฝึกหนักหรือนานเกินไปในหน้าร้อน โดยเฉพาะการฝึกกลางแจ้งช่วงแดดจัด เสียเหงื่อมากเกินไป ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน
ฮีทสโตรกต่างกับสโตรกอย่างไร
ฮีทสโตรก (Heatstroke) เกิดจากอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไป ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ แต่สโตรก (Stroke) เป็นภาวะฉุกเฉินของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา ปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด การทรงตัวผิดปกติ ทั้งฮีทสโตรกกับสโตรกต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่การตรวจวินิจฉัยและวิธีการรักษามีความแตกต่างกัน
ดูแลป้องกันฮีทสโตรกได้อย่างไร
- เลือกอยู่ในที่ร่มหรืออากาศเย็น
- เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือกลางแดดในช่วงเวลา 11.00 – 15.00 น.
- สวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย ระบายเหงื่อได้ดี
- ป้องกันร่างกายจากแสงแดด เช่น กางร่ม สวมหมวก ฯลฯ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน
- ถ้าเสียเหงื่อมากให้จิบน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
- อย่าออกกำลังกายหนักเกินไป โดยเฉพาะในที่อากาศร้อน มีความชื้นสูง หรือในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
ปฐมพยาบาลฮีทสโตรกเบื้องต้นอย่างไร
การลดอุณหภูมิของคนที่เป็นฮีทสโตรกได้เร็วที่สุด ย่อมช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดี สิ่งที่ควรทำคือ
- ในผู้ที่ออกกำลังกายหากรู้สึกร้อนเกินไปให้หยุดพักทันที เพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย
- หากใส่เสื้อหนาให้ปลดกระดุมออก หรือเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี
- พาเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็นโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น
- แช่ในน้ำเย็น (อุณหภูมิ 8 – 14 ° C) หรือน้ำใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิ 2 – 5 ° C) เป็นเวลา 10 – 15 นาที
- ถ้าไม่สามารถแช่ในน้ำเย็นได้ ให้ใช้ผ้าเย็นวางตรงหน้าผาก ซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- ถ้าหมดสติให้โทร 1669 หรือ 1724 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ถ้าเป็นฮีทสโตรกแล้วร่างกายจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหรือไม่
หากเป็นฮีทสโตรกแล้วจะส่งผลกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย แม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะระบบสมอง เช่น ปัญหาความจำ การเดิน การทรงตัว รวมถึงการทำงานของตับหรือไตไม่ปกติ เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาฮีทสโตรก
นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาฮีทสโตรก
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมดูแลรักษาฮีทสโตรกอย่างทันท่วงที ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางรวมถึงแพทย์สหสาขาที่มีความชำนาญและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข