หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หลอดเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบรักษาให้ไวก่อนถึงชีวิต

หลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นโรคที่พบได้บ่อย มักไม่มีสัญญาณเตือน กว่าจะรู้ตัวอีกทีอาการก็มักรุนแรงจนตั้งตัวไม่ทัน สิ่งสำคัญคือต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุดก่อนสายเกินไป เพราะอันตรายร้ายแรงถึงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิต


หลอดเลือดสมองโป่งพองคืออะไร

หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) คือ ภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงในสมองเสื่อมลง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงในบริเวณนั้นบางลง หากมีแรงดันจากการไหลเวียนเลือดในส่วนนั้น ผนังหลอดเลือดจะเกิดการโป่งพอง เมื่อขนาดใหญ่ขึ้น ๆ จากการรับแรงดันในหลอดเลือดจะนำไปสู่การแตกและเลือดออกบริเวณชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง หากมีอาการแตกของเส้นเลือด ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งมีโอกาสเสียชีวิตเมื่อมีอาการ และผู้ป่วยที่เหลือจะต้องทำการวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาโดยเร็วอาจถึงแก่ชีวิต


สาเหตุหลอดเลือดสมองโป่งพอง

  • กรรมพันธุ์หรือประวัติในครอบครัว
  • ความเสื่อมของหลอดเลือดตามวัย
  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ประวัติอุบัติเหตุทางสมอง
  • สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดบางชนิด

อาการหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นอย่างไร

ความน่ากลัวของหลอดเลือดสมองโป่งพองคือ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการเตือน หรือมีอาการปวดศีรษะที่ไม่จำเพาะเจาะจง จนกระทั่งหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่ไปกดเบียดเนื้อสมอง อุดหลอดเลือด เส้นเลือดแตก และมีเลือดออกที่ชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้มีอาการดังนี้

  • หลอดเลือดสมองโป่งพองใหญ่จนไปกดเบียดเนื้อสมองหรือเส้นประสาท อาการกดเบียดขึ้นกับตำแหน่งของเนื้อสมองที่ใกล้เคียงเส้นเลือดนั้นๆ 
    • ปวดศีรษะข้างเดียว
    • หนังตาตก
    • เห็นภาพซ้อน
  • หลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่และพบลิ่มเลือดด้านในไปอุดหลอดเลือดสมองส่วนปลาย
    • ชา 
    • แขนขาอ่อนแรง 
    • ลิ้นแข็ง 
    • ปากเบี้ยว 
  • หลอดเลือดสมองโป่งพองจนแตกและเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางมักเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด 
    • ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน
    • ปวดต้นคอเฉียบพลัน
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ชัก หมดสติ

ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองโป่งพองอย่างไร

  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจรายละเอียดความผิดปกติของหลอดเลือดที่ออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง
  • ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI – Magnetic Resonance Imaging) วินิจฉัยความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดสมองตีบและแตก 
    • การตรวจหลอดเลือดที่ผิดปกติเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้น โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาจากอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย และทำการเลือกวิธีการตรวจอย่างเหมาะส ได้แก่ CT-Angiogram, MRI-Angiogram และการฉีดสีเส้นเลือด 
    • การฉีดสีหลอดเลือดในสมอง (Cerebral Angiogram) เป็นการตรวจมาตรฐานในปัจจุบัน ซึ่งสามารถบอกถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของหลอดเลือดแดงที่โป่งพองผิดปกติ ในปัจจุบันการตรวจชนิดนี้สามารถใช้วิเคราะห์ลักษณะกระแสการไหลเวียนที่ผิดปกติของเลือดในหลอดเลือดแดงและสามารถใช้เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาหลอดเลือดแดงโป่งพองได้โดยไม่ต้องผ่าตัดสมอง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและตำแหน่งผิดปกติของเส้นเลือดเป็นสำคัญ

หลอดเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบรักษาให้ไวก่อนถึงชีวิต

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองขึ้นกับอาการแสดงของผู้ป่วย

  • หากผู้ป่วยตรวจพบหลอดเลือดแดงโป่งพองโดยบังเอิญ สามารถเข้ารับการปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่หลอดเลือดที่โป่งยังไม่แตก เพื่อผลการรักษาที่ดีและเพื่อคุณภาพชีวิตให้ดีในระดับเดิม 
  • หากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการแสดงของเส้นเลือดสมองโป่งพองและแตก ถือเป็นภาวะวิกฤตทางสมอง และจะต้องทำการรักษาโดยเร่งด่วน 
    • เข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤตทางสมอง 
    • ตรวจวินิจฉัยหาตำแหน่งของเส้นเลือดที่โป่งพองและแตกออกเพื่อวางแผนในการรักษา  
    • การให้การดูแลความเสียหายของสมองซึ่งเกิดจากเลือดที่ออก ทั้งภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองเฉียบพลัน, อาการชัก, อาการสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดในสมองหดเกร็งตามหลังการเลือดออก และภาวะไม่รู้สึกตัว ซึ่งสามารถนำมาถึงอันตรายถึงชีวิตของผู้ป่วยได้  

รักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองอย่างไร

วิธีการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการโป่งพอง อาการแสดงของผู้ป่วย อายุ ปริมาณเลือดที่ออกในสมอง ความแข็งแรงของผู้ป่วย และโรคร่วมของผู้ป่วย การรักษาในปัจจุบัน มี 2 วิธี

  • การผ่าตัดหนีบหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Clipping Aneurysm) ทีมประสาทศัลยแพทย์จะเป็นผู้ผ่าตัดเพื่อทำการหนีบบริเวณหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยความยากง่ายจะขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และความกว้างฐานหลอดเลือดสมองโป่งพอง การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถนำเลือดที่ออกในสมองออกและสามารถระบายน้ำที่คั่งในโพรงสมองไปในเวลาเดียวกัน รวมถึงการใช้เครื่องมือเฉพาะหนีบบริเวณของหลอดเลือดที่ผิดปกติ สามารถลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
  • รังสีร่วมรักษา (Endovascular treatment) แพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษาทางสมอง จะฉีดสารรังสีทึบแสงเพื่อเอกซเรย์ ก่อนจะทำการอุดหลอดเลือดโป่งพองด้วยขดลวด (Endovascular Coiling) โดยใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านหลอดเลือดที่ขาหนีบ จากนั้นเมื่อระบุตำแหน่งหลอดเลือดสมองโป่งพองได้แล้ว แพทย์จะทำการใส่ขดลวด (Platinum Coil) ผ่านทางสายสวนหลอดเลือด เพื่อกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองที่โป่งพองเพื่ออุดไว้

ป้องกันหลอดเลือดสมองโป่งพอง

  • เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม
  • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • หากมีโรคประจำตัวให้รับประทานยาและพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมองมีความพร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองในทุกภาวะวิกฤติ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับมาอีกครั้ง