การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ (Cervical Disc Replacement) เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ซึ่งจะคงการเคลื่อนไหวของกระดูกคอได้ใกล้เคียงเดิม เป็นข้อดีที่มากกว่าการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอแบบยึดและแบบเชื่อมข้อ ACDF โดยมีงานวิจัยทางการแพทย์หลายฉบับสนับสนุนว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอเทียมให้ผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดยึดและเชื่อมกระดูกคอ (Anterior Cervical Discectomy And Fusion (ACDF)
เมื่อไรต้องผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ
ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ ได้แก่
1) อาการหรือโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง
– ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรงของมือ แขน และ/หรือ มีการอ่อนแรงของขา และ/หรือมีการควบคุมปัสสาวะอุจจาระผิดปกติ
2) อาการหรือโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
– ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรง ปวดหรือชาที่มือ แขนที่ได้รับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ขั้นตอนผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ
การผ่าตัดจะมีแผลที่คอขนาดเล็ก 4 – 5 เซนติเมตรเพื่อดึงรั้งหลอดลมและหลอดอาหาร แล้วจึงจะตัดหมอนรองกระดูกคอที่กดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทด้วยกล้องไมโครสโคป หลังจากนั้นจะทำการใส่ข้อหมอนรองกระดูกคอเทียม โดยทุกขั้นตอนจะทำภายใต้ภาพเอกซเรย์ Fluoroscope เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องและลดข้อผิดพลาดและผลกระทบต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง
ข้อดีของการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอเทียม
ข้อกระดูกคอสามารถเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงเดิม ช่วยลดอัตราการเสื่อมของข้อกระดูกคอที่อยู่ข้างเคียงได้ดีกว่าการผ่าตัดโดยวิธียึดเชื่อมข้อ (Anterior Cervical Discectomy And Fusion (ACDF)
ข้อแนะนำสำหรับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอเทียม
- การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน ถ้าผู้ป่วยมีข้อฟาเซ็ต (Facet Joint) เสื่อมร่วมด้วย การผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจไม่ได้ผลและอาการปวดคอจะยังคงมีอยู่
- การรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น แสบหลอดอาหาร เสียงแหบ โดยจะเป็นผลข้างเคียงชั่วคราวเช่นเดียวกับการผ่าตัด ACDF และอาจมีโอกาสเกิดการเชื่อมข้อหลังผ่าตัดได้
- เทคนิคการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอเทียมควรทำโดยศัลยแพทย์กระดูกสันหลังผู้ชำนาญการ ภายใต้การใช้ภาพเอกซเรย์ Fluoroscope ตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องในทุกขั้นตอน