โรคกระดูกสันหลังยุบในคนสูงอายุเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักมีความสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุน มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากและใช้ชีวิตได้ลำบาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีประวัติอุบัติเหตุหกล้มก้นกระแทกพื้น ในบางครั้งวินิจฉัยได้ยากและอาจส่งผลเสียร้ายแรงได้ ถ้าปล่อยไว้นานและไม่ได้รักษาให้ถูกต้อง
สาเหตุกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
สาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporotic Vertebral Fracture) มาจากโรคกระดูกพรุนเป็นหลัก ซึ่งกระดูกพรุนเกิดจากสาเหตุหลัก ได้แก่
- โรคกระดูกพรุนจากความเสื่อมตามวัย พบในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยมักมีประวัติอุบัติเหตุหกล้มหลังหรือก้นกระแทก หรือบางรายอาจไม่มีประวัติอุบัติเหตุ จะมีลักษณะหลังค่อมหรือตัวเตี้ยลงชัดเจน ส่งผลให้กระดูกสันหลังค่อย ๆ ยุบตัวลง มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- โรคกระดูกพรุนจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหาร กิจวัตรประจำวัน โรคประจำตัว ภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดี ใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เป็นต้น
อาการกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
กระดูกสันหลังที่ยุบส่วนมากมักเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังช่วงอกส่วนล่างและกระดูกสันหลังเอวส่วนบน (Thoracolumbar Junction) ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนบน โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนมักไม่เกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา ชาขา ขาอ่อนแรง และปัสสาวะหรืออุจจาระลำบากร่วมด้วยได้ อาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังยุบมักมีระดับความปวดค่อนข้างมาก อาการปวดมักไม่ทุเลาแม้ใช้ยาแก้ปวดและอาการปวดมักเป็นมากขึ้นเวลามีการขยับร่างกาย เช่น เวลาพลิกตัวบนเตียงในท่านอน หรือเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่งและจากท่านั่งเป็นยืน
กลุ่มเสี่ยงกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง เพราะมีความเปราะบางของเนื้อกระดูกสันหลังที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ทำให้เนื้อกระดูกเกิดการแตกหักได้ง่าย
ตรวจวินิจฉัยกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกสันหลังยุบต้องวินิจฉัยจากภาพเอกซเรย์ ในกรณีที่ภาพเอกซเรย์ไม่สามารถแสดงลักษณะกระดูกสันหลังยุบได้ชัดเจน อาจต้องทำ MRI Scan เพื่อช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติม และต้องวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนควบคู่ไปด้วย ซึ่งต้องตรวจวินิจฉัยความแข็งแรงของมวลกระดูกสันหลังร่วมด้วยเสมอ วิธีการตรวจจึงประกอบด้วย
- X-ray กระดูกสันหลัง บริเวณที่ปวดหรือสงสัยว่าเกิดการหักยุบของกระดูกสันหลัง
- ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อตรวจความผิดปกติของกระดูกสันหลังยุบอย่างละเอียด บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากกระดูกพรุนเสมอไป อาจเป็นเนื้องอกกระดูกสันหลัง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยที่ปวดเรื้อรังรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เป็นต้น
- ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density – BMD) เพื่อวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจน หากกระดูกพรุนย่อมมีมวลกระดูกน้อยและมีความเสี่ยงกระดูกสันหลังยุบ
รักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
วิธีรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาแบบผ่าตัดขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง โดยแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ประเมินการรักษา ประกอบไปด้วย
- การรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่
- การใช้ยา (Medication) เป็นการรักษาเบื้องต้นเพื่อลดความเจ็บปวด โดยแพทย์จะให้ยาลดปวด แคลเซียม ยารักษาโรคกระดูกพรุน โดยใช้ยาร่วมกับการใส่เสื้อเกราะพยุงหลัง (Brace) เพื่อดามกระดูกสันหลัง ร่วมกับการปรับพฤติกรรม โดยปกติกระดูกสันหลังยุบสามารถเชื่อมต่อได้เองประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ แต่หากไม่สามารถเชื่อมต่อได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาวิธีอื่นต่อไป
- การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน ใช้ในการรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนที่มีอาการปวดมากจากการถูกกดทับเส้นประสาทหรือมีการยุบตัวของกระดูกรุนแรง แพทย์จึงจำเป็นต้องพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัด ได้แก่
- การฉีดซีเมนต์เข้าไปบริเวณที่กระดูกหักยุบ (Vertebroplasty, Kyphoplasty, Stentoplasty) เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลังให้กลับมาแข็งแรง แพทย์จะทำการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อตรวจการเชื่อมต่อของกระดูกสันหลังอย่างละเอียด หากไม่สามารถเชื่อมต่อได้จะพิจารณาการฉีดซีเมนต์บริเวณข้อกระดูกสันหลังที่หักยุบ วิธีนี้หลังรักษาผู้ป่วยจะหายจากความเจ็บปวดทันทีและขยับตัวลุกนั่งได้ภายใน 24 ชั่วโมง
- การผ่าตัดใส่สกรูเพื่อยึดดามกระดูก (Spinal Instrumentation and Fixation) เป็นการผ่าตัดเปิดเพื่อนำเหล็กเข้าไปยึดตรึงดามกระดูกสันหลัง หรือใช้การเจาะรูแล้วใส่เหล็กยึดเข้าไปบริเวณด้านหลัง ซึ่งบางครั้งอาจต้องทำการรักษาควบคู่กันทั้งการผ่าตัดและการฉีดซีเมนต์
ป้องกันกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้มวลกระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง
- จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุการลื่นล้ม
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ถั่ว ปลา ฯลฯ หรือเสริมแคลเซียมตามที่แพทย์แนะนำ
- หากเป็นโรคกระดูกพรุนต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
- ตรวจเช็กความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงกระดูกพรุนก่อนสูงวัย เช่น ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาสเตียรอยด์ประจำ ผู้ป่วยที่ผ่านการตัดรังไข่ เป็นต้น
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมดูแลทุกปัญหากระดูกสันหลัง โดยเฉพาะการรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษาและผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวในทุกวัน
แพทย์ที่ชำนาญการรักษากระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจการรักษาและผ่าตัดกระดูกสันหลัง
แพ็กเกจการรักษาและผ่าตัดกระดูกสันหลัง ราคาเริ่มต้นที่ 37,000 บาท