หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / เคล็ดลับสุขภาพ /
ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำผู้ป่วยสมองเสื่อม

ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถสังเกตได้ในเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่าเริ่มป่วยแล้ว เช่น กินอาหารแล้วจำไม่ได้ว่ากิน ออกจากบ้านหลงทางกลับบ้านไม่ถูก มีความคิดสับสน ลืมชื่อคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่เคยรู้จักสนิทสนม คิดว่าของคนอื่นเป็นของตน เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน และในระดับที่ป่วยแล้ว ได้แก่ พฤติกรรมการนอนที่สับสน ขับถ่ายไม่เป็นที่ แยกความฝันกับความจริงไม่ได้ และมีพฤติกรรมถดถอยเหมือนเด็ก ทั้งนี้วิธีการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมตามลักษณะปัญหา โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าในการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมในเรื่องกิจวัตรประจำวัน มีดังนี้
  1. การกิน ปัญหาที่พบบ่อยคือ จำไม่ได้ว่ากินอาหารไปแล้ว ไม่รู้จักวิธีการใช้ช้อนส้อม ปัญหาในการกลืน การเคี้ยวหรืออาจต้องป้อนอาหาร

แนวทางการจัดการกับปัญหา

  • ตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน ความสามารถในการเคี้ยวและการกลืนเป็นระยะ ๆ
  • คงบรรยากาศการกินอาหารอย่างเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาที่เริ่มจัดหาอาหาร ถ้วยชาม ตำแหน่งของโต๊ะเก้าอี้
  • คอยเตือนล่วงหน้าเมื่อใกล้ถึงเวลาอาหาร
  • จัดอาหารชนิดที่คุ้นเคย เคี้ยวง่าย และระวังการสำลัก บางครั้งจำเป็นที่จะต้องบดอาหารหรือทำอาหารเหลว โดยเน้นคุณค่าและปริมาณอาหารแต่ละมื้อ
  • คอยบอกวิธีรับประทานให้ค่อย ๆ เคี้ยวแล้วค่อย ๆ กลืนช้า ๆ
  • ไม่ควรเคร่งครัดกับพิธีรีตรองหรือมารยาทบนโต๊ะอาหารมากนัก ควรทำบรรยากาศให้สบาย ๆ
  • ควรระวังอาหารที่ร้อนจัดเกินไป เพราะผู้ป่วยอาจรับรู้ไม่ได้เกี่ยวกับอุณหภูมิความร้อน
  • อาหารบนโต๊ะไม่ควรมีหลาย ๆ อย่าง พร้อมกันอาจทำให้สับสนได้

หมายเหตุ ไม่ควรวางอาหารให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อมเห็น เพราะอาจกินโดยไม่สามารถยับยั้งได้ และในรายที่ไม่สามารถเคี้ยวได้อาจทำให้อาหารติดคอได้

  1. การลืมกินยา ผู้สูงอายุสมองเสื่อมส่วนใหญ่ต้องกินยาเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจกินยามากเกินไปพอ ๆ กับไม่ได้กิน เพราะจำไม่ได้ว่ากินยาแล้วหรือยัง

แนวทางการจัดการกับปัญหา

  • วิธีแก้ปัญหาการกินยาเกินขนาด คือ ผู้ดูแลต้องคอยจัดยาให้ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อมไม่ค่อยพอใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรก แต่การจัดยาให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น
  • จัดยาสำหรับ 1 วันหรือ 1 สัปดาห์โดยใช้อุปกรณ์จ่ายยาซึ่งมีขายตามร้านขายยา
  • ใส่ยาให้ในอุปกรณ์จ่ายยาสำหรับ 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ในแต่ละวัน ผู้สูงอายุสามารถกินยาตามคำสั่งแพทย์ ผู้ดูแลและผู้สูงอายุช่วยกันตรวจดูยาที่เหลือและกากบาทแต่ละวันที่ผ่านไปในปฏิทิน
  1. การนอน ปัญหาที่มักพบคือการไม่ยอมนอนตอนกลางคืน เดินไปเดินมา และการนอนหลับมากในตอนกลางวัน

แนวทางการจัดการกับปัญหา

  • พยายามจัดเวลานอนให้เป็นเวลา
  • คอยเตือนผู้สูงอายุเมื่อใกล้ถึงเวลานอน
  • พยายามหลีกเลี่ยงการนอนระหว่างวัน แต่อาจให้งีบหลับได้ในช่วงหลังอาหารกลางวัน แต่ไม่ควรเกินบ่าย 3 โมงเย็น ไม่เกิน 30 นาที
  • กระตุ้นให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เช่น พาเดินเป็นประจำในช่วงเช้า และช่วงเย็น
  • มีแสงสว่างเพียงพอในห้องนอน
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน (ชา กาแฟ) นํ้าอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
  • ถ้าไม่นอนหลายคืนควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรให้ยานอนหลับเอง

หมายเหตุ  ถ้าอากาศสลัว ในวันที่ไม่มีแดด ผู้สูงอายุอาจคิดว่าเป็นกลางคืน อาจจะทำให้นอนโดยไม่กินข้าวจะต้องปลุกให้กินข้าว

  1. การแต่งตัว ปัญหาที่มักพบ คือ จำไม่ได้ว่าเก็บเสื้อผ้าไว้ที่ไหน ไม่ทราบว่าจะต้องใส่อะไรก่อน – หลัง ไม่ทราบวิธีการใส่ ไม่รู้ว่าเสื้อผ้ามีเอาไว้ทำอะไร เป็นต้น

แนวทางการจัดการกับปัญหา

  • ช่วยเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้ใส่อย่างเป็นลำดับ
  • บอกหรือช่วยแต่งตัวเป็นลำดับทุกครั้ง
  • สถานที่แต่งตัวให้เป็นตำแหน่งเดิมทุกครั้ง
  • ถ้าผู้สูงอายุแต่งตัวเองได้ ควรให้เวลาไม่ต้องเร่งรีบ
  • พยายามเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายและง่าย
  1. การขับถ่าย ปัญหาที่มักพบ คือ ผู้สูงอายุมักจะไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะใช้ห้องนํ้า อาจกลั้นอุจจาระไม่ได้ หาห้องนํ้าไม่พบเข้าไปในห้องนํ้าแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรและอาจถึงขั้นขับถ่ายไม่เป็นที่

แนวทางการจัดการกับปัญหา

  • พยายามจัดเวลาการขับถ่ายให้เป็นเวลาหรือใกล้เคียงกับเวลาเดิม
  • จำกัดเครื่องดื่มเมื่อใกล้เวลาเข้านอน ไม่ดื่มนํ้ามากเมื่อใกล้เวลาเข้านอน
  • อำนวยความสะดวกในการเดินเข้าห้องนํ้า เช่น เปิดไฟไว้ในห้องนํ้าและทางเดินไปห้องนํ้า ติดสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นห้องนํ้าไว้ชัดเจน
  • เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นชุดที่ถอดออกง่าย เช่น ใช้สวมเอวยางยืดดีกว่าติดกระดุมหรือผูกเชือก
  • ชนิดของอาหารควรเป็นชนิดที่ย่อยง่าย มีกากใยช่วยในการขับถ่าย
  • เตรียมกระโถนปัสสาวะไว้ใกล้ ๆ ที่นอน
  • หากมีความจำเป็น อาจต้องใช้ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงอายุ