หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ฝังไมโครชิปกระตุ้นสมอง รักษาพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่มาพร้อมกับวัยสูงอายุ โรคพาร์กินสันพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มโรคทางสมองของผู้สูงอายุ เป็นอีกโรคที่เกิดจากการที่สมองเริ่มเสื่อมลง อาการที่พบบ่อย ๆ คือ สั่น กล้ามเนื้อเกร็ง การเคลื่อนไหวช้า และสูญเสียการทรงตัว

รู้จักพาร์กินสัน

พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง มักพบในคนไข้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีน้อยที่ป่วยทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพันธุกรรม จริง ๆ แล้วการตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุของโรคพาร์กินสันเพื่อการรักษาที่ต้นเหตุไม่ใช่เรื่องยาก ปัจจุบันสามารถตรวจด้วยเครื่องสเเกนสมอง ทั้งชนิด CT MRI เเละ PET Scan โดยเฉพาะ PET Brain F – DOPA เพื่อตรวจหาความผิดปกติของสมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการที่เซลล์ของสมองผลิตสารโดพามีนไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการสั่นที่มือ แขน ขา กราม และใบหน้า การตรวจอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง

นอกจากอาการสั่นเกร็ง เคลื่อนไหวช้า ทรงตัวไม่ดี กลืนลำบาก พูดลำบาก พูดเสียงเบาในลำคอแล้ว ยังมีอาการบางอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ไปสู่โรคพาร์กินสันได้ เช่น ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก กลั้นไม่อยู่ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ตาแดง ความดันต่ำ บางรายแค่ยืนขึ้นความดันลดลงทำให้เป็นลมได้ ซึ่งตรงนี้ต้องตรวจอย่างละเอียด

พัฒนาการโรคพาร์กินสัน

สำหรับพัฒนาการของโรคพาร์กินสันระยะแรกอาจเป็นครึ่งซีก อาการแรกอาจมาด้วยอาการสั่นเกร็ง เคลื่อนไหวลำบากครึ่งซีก ต่อมาจะเริ่มเป็นสองข้าง ซึ่งระยะการพัฒนาของโรคในช่วงนี้อาจใช้เวลา 6 เดือน – 1 ปี หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัวไม่ดี จนถึงขั้นต้องนั่งรถเข็น และสุดท้ายก็เริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องอยู่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับขั้นการพัฒนาการของโรคในระยะต่าง ๆ

รักษาโรคพาร์กินสัน

การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ทั้งการกินยาและผ่าตัด ซึ่งยารักษาพาร์กินสันมีหลายกลุ่ม แต่ปัญหาของการทานยา บางรายพอทานไปได้สักพัก ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา บางคนกินยา 4 – 5 ปีแล้วยาออกฤทธิ์ได้นานกว่าเดิม หรือบางคนคาดเดาตัวเองไม่ได้ว่ายาจะออกฤทธิ์เมื่อไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้แพทย์ผู้ชำนาญการจะมีการแนะนำในการปรับยา หรือแนะนำคนไข้ไม่ให้ทานยาพร้อมกับอาหารโปรตีนที่เมื่อทานเข้าไปจะจับกับตัวยา หรือบางรายพอทานยาไปแล้วอาการตอบสนองมีมากกว่าปกติ อย่างคนไข้ที่มีอาการยุกยิกพอทานยาเข้าไปก็ตัวแข็ง พอของตกก็ไม่สามารถก้มลงเก็บได้ ส่วนการผ่าตัดรักษามักใช้เมื่อคนไข้กินยามาแล้วระยะหนึ่งหรือทานยาแล้วมีผลข้างเคียงก็จะใช้การผ่าตัดช่วย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นทั้งอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน แพทย์จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เนื่องจากคนไข้อาจมีอาการซึมเศร้า ประสาทหลอน การผ่าตัดจะไม่ได้ผลดีนัก

เทคโนโลยีรักษาโรคพาร์กินสัน

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการรักษาโรคพาร์กินสัน ที่เรียกว่า Deep Brain Stimulation : DBS Therapy เป็นการผ่าตัดฝังไมโครชิปกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาว่า ช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยพาร์กินสันมากกว่า 100,000 รายทั่วโลก ในประเทศไทยมีการผ่าตัดฝังเครื่อง DBS รักษาผู้ป่วยพาร์กินสันไปแล้วหลายรายตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยลดการใช้ยา ควบคุมการเคลื่อนไหว อาการของโรคดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคนิคการผ่าตัดใส่ชุดอุปกรณ์กระตุ้นประสาทส่วนลึก (Medtronic DBS Therapy) แทนการใช้ยารักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เพื่อลดอาการสั่น และอาการข้างเคียงที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การรักษาด้วยเทคนิคนี้ เป็นการฝังอิเล็กโตรดเข้าไปในสมองและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่เรียกว่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Pulse Generator) ซึ่งสามารถตั้งค่าโปรแกรมการทำงานได้จากภายนอก โดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย อุปกรณ์ตัวนี้จะส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และป้องกันไม่ให้สมองส่งคำสั่งบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทำให้สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น และสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีกว่าเดิม


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากการรักษาทางยาเพื่อระงับอาการของโรคแล้ว แพทย์ไทยได้เริ่มต้นรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคผ่าตัดสมองเพื่อฝังอิเล็กโตรด โดยใช้แบตเตอรี่กระตุ้นสมองด้วยความถี่สูงซึ่งเป็นเทคนิคการรักษามาตรฐานในต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีทั้งผู้ป่วยพาร์กินสัน และโรคอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางสมอง อาทิ โรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ รวมถึงโรคทางจิตเวช เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า ภาวะคอกระตุก และกล้ามเนื้อบิดเกร็ง หลังจากรักษาผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าการรักษาด้วยเทคนิค DBS เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างลดความเสี่ยงและเกิดผลแทรกซ้อนตามมาภายหลังน้อยมาก