หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
สมองเสื่อม อย่ารอให้สูญเสียความจำ

สมองเสื่อมในผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะหากหลงลืมบ่อย สับสนเป็นประจำ จนสูญเสียความทรงจำที่เคยมี อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิต ร้ายแรงถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้ คนใกล้ชิดจึงต้องคอยดูแลและสังเกตอาการอยู่เสมอเพื่อให้สามารถดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

 

สมองเสื่อมคืออะไร

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือ ภาวะที่การทำงานของสมองและระบบประสาทถดถอยเสื่อมลง เกิดจากจำนวนเซลล์สมองทำงานลดลงและการสูญเสียเซลล์สมองในหลายส่วน ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากความจำระยะสั้น ตามมาด้วยความบกพร่องทางความจำระยะยาว ความคิด การตัดสินใจ การวางแผน การเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การเข้าสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่หลงลืมตามวัย แต่นำไปสู่การสูญเสียความจำรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต พบได้บ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่ในผู้ที่มีโรคพันธุกรรมบางอย่าง เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s Syndrome) หรือมีโรคทางสมองที่ทำให้เสียการทำงาน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อในระบบประสาท ภาวะบาดเจ็บทางสมองจากอุบัติเหตุ อาจทำให้มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อยได้เช่นกัน 

สมองเสื่อมเกิดจากอะไร

  • การเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegeneration) พบมากในคนอายุมากกว่า 65 ปี โดยโรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคอื่น ๆ ที่พบได้ในกลุ่มนี้ เช่น สมองเสื่อมในกลุ่มอาการพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia)
  • โรคหลอดเลือดสมอง พบในผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้หลอดเลือดมีปัญหา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ
  • โรคทางศัลยกรรมระบบประสาท เช่น ภาวะเลือดคั่งในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็งหรือเนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal Pressure Hydrocephalus) 
  • การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ
  • ภาวะขาดวิตามินบี 12 โดยพบในผู้ที่การดูดซึมบกพร่อง เช่น โรคหรือยาบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินได้ เคยมีการผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน หรือพบในผู้ที่ได้รับวิตามินจากอาหารไม่เพียงพอ เช่น การรับประทานมังสวิรัติ
  • ภาวะที่มีการทำงานผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะตับวาย โรคไตเรื้อรัง
  • การได้รับสารพิษ ยาบางชนิด หรือสารเสพติด
  • โรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
  • การบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรง เช่น ภาวะขาดออกซิเจน ภาวะชักต่อเนื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลานาน ภาวะบาดเจ็บทางสมองจากอุบัติเหตุ

สมองเสื่อม อย่ารอให้สูญเสียความจำ

สังเกตอาการสมองเสื่อมได้อย่างไร

  • สูญเสียความจำระยะสั้น
  • สับสนเวลาและสถานที่
  • ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ สมาธิไม่ดี ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว 
  • มีปัญหามากขึ้นในการสื่อสาร เช่น ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างที่เคยเป็น เรียกสิ่งของไม่ถูก พูดตะกุกตะกักหรือติดอ่าง
  • ซึม ไม่กระตือรือร้น นิ่งเฉย
  • สูญเสียการช่วยเหลือตัวเองในด้านต่าง ๆ เช่น การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร การขับถ่าย หรือ ไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ตนเองเคยทำได้มาก่อน เช่น การขับรถ การวางแผนงาน การจัดยาทานเอง การตัดสินใจสิ่งต่าง ๆด้วยตัวเอง

สมองเสื่อมมีกี่ระยะ

ภาวะสมองเสื่อมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามการทำงานสมองและอาการคนไข้ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น สูญเสียความสามารถในการทำสิ่งที่ซับซ้อน แต่ระยะนี้ผู้ป่วยยังสามารถดูแลตนเองขั้นพื้นฐานได้ เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว เข้าห้องน้ำ อาจมีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดง่ายร่วมด้วยได้
  • ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระยะกลาง เริ่มมีการสูญเสียการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานบ้างเล็กน้อย มีปัญหาด้านความเข้าใจ บกพร่องทางการเรียนรู้ เริ่มสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจบางอย่าง อาจมีอาการทางจิตได้ในบางครั้ง เช่น การหลงผิด ภาวะหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน ฯลฯ
  • ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมระยะรุนแรง สูญเสียความสามารถทางสมองเกือบทั้งหมด ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ขั้นพื้นฐานด้วยตัวเองไม่ได้ กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด 
  • ระยะที่ 4 ภาวะสมองเสื่อมระยะติดเตียงหรือระยะสุดท้าย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งการเคลื่อนไหว การรับประทานอาหาร การสื่อสาร อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะติดเชื้อในระบบต่าง ๆ มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ

สมองเสื่อม อย่ารอให้สูญเสียความจำ

ปัจจัยเสี่ยงสมองเสื่อม

  • อายุที่มากขึ้น
  • พันธุกรรมบางอย่าง 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงด้านหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคตับหรือไตเรื้อรัง
  • รับประทานยาบางอย่างที่มีผลต่อการทำงานของสมอง เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic Drugs) ยาเสพติด
  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก (มากกว่า 21 ยูนิตต่อสัปดาห์; 1 unit = 8 กรัม แอลกอฮอล์) 
  • การสูบบุหรี่
  • ภาวะบาดเจ็บทางสมองรุนแรง
  • การได้รับมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5
  • ภาวะหูตึงหรือการมองเห็นที่ไม่ดี 
  • ภาวะซึมเศร้า 
  • การไม่มีกิจกรรมทางกาย (Physical Inactivity) เช่น การไม่ค่อยขยับ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ
  • การเก็บตัวหรือไม่มีการพบปะผู้คนหรือเข้าสังคม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องกักตัว ฯลฯ

สมองเสื่อม อย่ารอให้สูญเสียความจำ

ตรวจวินิจฉัยสมองเสื่อมได้อย่างไร

  • การซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยมีผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยร่วมให้ประวัติด้วย
  • การตรวจการทำงานของระบบประสาท เช่น ความจำ สมาธิ การมองมิติสัมพันธ์ การคิด การใช้ภาษา รวมถึงตรวจภาวะทางด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ด้วยแบบทดสอบต่าง ๆ
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม เช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์ ระดับเกลือแร่ ค่าตับ ค่าไต ระดับวิตามินในเลือด ฯลฯ
  • สแกนภาพสมองด้วยเครื่องมือพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์สแกนสมอง (CT Scan) หรือสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) 
  • ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram – EEG) การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจสแกนสมองด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีโพสิตรอน (PET Scan) 
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพิ่งมีการใช้ในประเทศไทยเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา โดยจะทำเพียงบางกรณีเท่านั้น 

รักษาสมองเสื่อมได้อย่างไร

การรักษาสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการ และความรุนแรงเป็นสำคัญ แบ่งการรักษาออกเป็น

  1. รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยไม่ใช้ยา เน้นการฝึกกระตุ้นบริหารสมอง เช่น เล่นเกม ปรับพฤติกรรม ออกกำลังกาย ปรับที่สภาพแวดล้อม โดยมีการให้ความรู้กับผู้ดูแลหรือครอบครัวผู้ป่วยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เตรียมพร้อมสำหรับการรับมืออาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย  
  2. รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยการใช้ยา ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นสำคัญ โดยยาส่วนใหญ่ให้เพื่อรักษาตามอาการและเป็นการชะลอการเสื่อมของสมอง โดยรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  3. รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยการผ่าตัด ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัด หากพบว่ามีสาเหตุของสมองเสื่อมจากโรคทางศัลยกรรมระบบประสาทดังที่กล่าวมา

สมองเสื่อม อย่ารอให้สูญเสียความจำ

ป้องกันสมองเสื่อมได้อย่างไร

ภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ แก้ไขและควบคุมปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมองและอาการของโรคได้ เช่น

  • ควบคุมเบาหวาน ความดัน ไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • แก้ไขภาวะหูตึงหรือการมองเห็นที่ผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงยาหรือสารต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสมอง
  • ฝึกบริหารสมอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พบปะผู้คน เข้าสังคมไม่เก็บตัวอยู่กับบ้าน
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสารเสพติด หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บทางสมอง

แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาสมองเสื่อม

นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาสมองเสื่อม

โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา ฟื้นฟูและป้องกันโรคสมองเสื่อม ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความจำ 

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความจำ ราคาเริ่มต้นที่ 23,000 บาท

คลิกที่นี่