หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เครื่องตรวจการนอนหลับ ชี้วัดความฟิตของร่างกาย

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่พบความผิดปกติทางสมองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรน หายใจผิดปกติ หลับลึก หลับมากเกินไป หรือหลับทั้งกลางวันและกลางคืน หลับนาน 3 – 4 วัน ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ทำให้ร่างกายไม่สดชื่น เพราะการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ

ศูนย์ตรวจการนอนหลับเน้นการให้บริการตรวจสุขภาพการนอนหลับ เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมต่าง ๆ ขณะนอนหลับ การนอนผิดปกติ นอนกรน นอนมากผิดปกติ การหายใจผิดปกติ และมีภาวะผิดปกติการนอนร่วมด้วย นอนละเมอ หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายขณะนอนหลับ ผู้ป่วยบางรายมีอาการตาเหลือก กัดฟัน ใบหน้ากระตุกและมีอาการเกร็งระหว่างนอนหลับ ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่เทคนิคการนอนหลับดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง

มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพบว่า มีปัญหาความผิดปกติในการนอน อาการของการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders) พบมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะถือเป็นภัยเงียบที่เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยสามารถรับตรวจการนอนหลับ โดย sleep lab เพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค

ทั้งนี้ศูนย์ตรวจการนอนหลับพร้อมให้บริการทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน สามารถตรวจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีอุปกรณ์ครบครันในบรรยากาศที่เหมือนห้องนอนในบ้าน หากพบมีอัตราการหยุดหายใจมากระดับหนึ่งอาจต้องใช้ เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (continuous positive airway pressure) หรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการหยุดหายใจในขณะหลับและอาการกรน โดยปกติเวลานอน ลิ้นไก่ที่ยาวและโคนลิ้นที่โต จะตกมาบังทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หายให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ลมที่เป่าเข้าไป จะถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก ช่วยลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่กรน และไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

นอกจากภาวะการนอนกรนหรือการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ง่วงในขณะขับรถจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ อาจเป็นจากหลายสาเหตุ เนื่องจากการนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแค่ 7 – 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การนอนไม่เพียงพอ ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ มีผลทำให้ง่วงนอนผิดปกติ อาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) คนไข้ในกลุ่มนี้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวันถ้าได้งีบจะรู้สึกสดชื่น แต่ไม่นานจะมีอาการง่วงอีก

ทั้งนี้ปัจจุบันมีเครื่อง Actigraphy ลักษณะเหมือนนาฬิกา เป็นเครื่องมือจับวัดการเคลื่อนไหว (Accelerometer) สามารถวัดความแรง intensity และความถี่ frequency ของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ติดตามพฤติกรรมคนไข้ขณะหลับเพื่อแปรผลช่วงหลับตื่น โดยจะสวมเครื่องมือที่ข้อมือข้างที่ถนัด ตลอด 1 สัปดาห์ที่บ้าน เครื่องมือจะบันทึกการเคลื่อนไหวห่างกันในทุก 1 – 5 วินาที ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์เพื่อประเมินวงจรการหลับและตื่น ร่วมกับการตรวจ Sleep Test โดยแพทย์จะเป็นผู้วิเคราะห์และอ่านผล เพื่อวางแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย