หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ตรวจความหนาแน่นกระดูกกับ DXA SCAN

เครื่องตรวจ DXA Scan เป็นเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ 2 พลังงานในการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับปริมาณรังสีน้อย ซึ่งปริมาณรังสีที่ได้รับในแต่ละครั้งของการตรวจจะน้อยกว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดปกติเป็นวิธีที่ให้ผลชัดเจน ถูกต้อง และถูกกำหนดให้เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

ชนิดเครื่องตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก

เครื่องตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกแบบ DXA Scan แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. เครื่องตรวจบริเวณกระดูกแกนกลางร่างกาย (Central Device) ใช้ตรวจบริเวณกระดูกสันหลังและสะโพก ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัย
  2. เครื่องตรวจบริเวณกระดูกแขน – ขา (Peripheral Device) ใช้ตรวจบริเวณข้อมือ ข้อเท้า ใช้ในการตรวจคัดกรอง

การแปรผลการตรวจ

ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่วัดได้มีหน่วยเป็น มวล/ตารางพื้นที่กระดูก (g/sq. cm, กรัม/ตารางเซนติเมตร) เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จากค่าที่วัดได้นี้จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติในกลุ่มคนที่เป็นวัยหนุ่มสาว (young – adult mean) อายุ 30 – 40 ปีที่มีเชื้อชาติเดียวกันหรือเชื้อชาติที่ใกล้เคียงกัน เป็นจำนวนของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) เรียกว่า T- score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าในการวินิจฉัยโรคโดย

  • ค่า T score ที่สูงกว่า -1 (ลบ 1) ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติ
  • ค่า T score ที่อยู่ต่ำกว่า -1 แต่สูงกว่า -5 ถือว่ากระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T score ที่ต่ำกว่า -5 ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

ในกรณีที่ต้องการตรวจซ้ำเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูก ควรตรวจด้วยเครื่องตรวจเดิม เนื่องจากเครื่องตรวจแต่ละเครื่องอาจใช้เทคโนโลยีในการวัดที่แตกต่างกัน มีค่าอ้างอิง (reference) แตกต่างกัน มีความแปรปรวนในการวัดที่ต่างกัน ทำให้ผลตรวจไม่สามารถใช้เปรียบเทียบกันได้ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ตรวจความหนาแน่นกระดูกซ้ำเร็วกว่า 1 ปี  เนื่องจากผลความแตกต่างที่เกิดขึ้นจะน้อยเกินไปที่จะแปลผลได้

ตรวจความหนาแน่นกระดูกกับ DXA SCAN

ผู้ที่ควรตรวจความหนาแน่นกระดูกอย่างสม่ำเสมอ

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
  • มีประวัติเคยมีกระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ จากภยันตรายที่ไม่รุนแรง
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่มีส่วนสูงลดลงมากกว่า 3 เซนติเมตร
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือดื่มเหล้าจัดเป็นประจำ
  • ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคข้ออักเสบเรื้อรัง โรคการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ  โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์และโรคต่อมพาราไทรอยด์
  • ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่มีอาการของภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ผู้ที่ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคลมชัก ยารักษามะเร็ง ฯลฯ

เตรียมตัวก่อนตรวจ

  • ควรบอกแพทย์หรือนักรังสีเทคนิคหากสงสัยว่าตั้งครรภ์ จะไม่ทำการตรวจในหญิงตั้งครรภ์
  • ควรปรึกษาแพทย์หากเคยได้รับการกลืนแร่หรือได้รับสารทึบแสง เพื่อทำ CT Scan มาก่อน ซึ่งอาจจะต้องเลื่อนการตรวจออกไปประมาณ 2 สัปดาห์
  • ในวันตรวจสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ปกติ

ตรวจ DXA Scan

เปลี่ยนเสื้อผ้าและถอดอุปกรณ์ที่เป็นโลหะออกจากร่างกายและนอนลงบนเครื่องตรวจ จะใช้เวลาตรวจประมาณ 10 – 15 นาที