รู้จักการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า
การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า คือ การวัดการทำงานของเส้นประสาทส่วนปลายและกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปการที่เส้นประสาทและกล้ามเนื้อจะทำงานเพื่อรับรู้ความรู้สึกหรือเคลื่อนไหวต้องอาศัยการนำไฟฟ้าผ่านเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ การตรวจนี้จะเป็นการวัดสัญญาณไฟฟ้าจากเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อในบริเวณที่มีอาการผิดปกติเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งของเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อที่มีปัญหาและนำไปสู่การตรวจหรือรักษาที่จำเพาะต่อไป
สัญญาณเตือนควรตรวจ
อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อและแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเพิ่มเติม ได้แก่
- อ่อนแรง
- ชา
- แสบร้อน
- ปวดแขน
- ปวดขา
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ตะคริว
ตำแหน่งบอกความผิดปกติ
การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้ามีประโยชน์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของระบบประสาทในตำแหน่งดังต่อไปนี้
- เซลล์ประสาทสั่งการการทำงานของกล้ามเนื้อ
- เส้นประสาทบริเวณต้นคอ
- เส้นประสาทบริเวณหลังช่วงล่าง
- เส้นประสาทภายในแขนขา
- ความผิดปกติของการนำสัญญาณไฟฟ้าบริเวณรอบต่อของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
- โรคกล้ามเนื้อ
เตรียมตัวก่อนตรวจ
- ในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจแจ้งให้หยุดรับประทานยาบางชนิดที่มีผลกับการตรวจ นอกจากนี้สามารถรับประทานยาชนิดอื่น ๆ และอาหารก่อนการตรวจได้ตามปกติ
- งดทาโลชั่นหรือน้ำมันที่ผิวในวันที่เข้ารับการตรวจ
- หากมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย เช่น การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด โรคเลือดบางชนิด หรือหากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจในร่างกาย กรุณาแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนเริ่มทำการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1) Nerve Conduction Studies
การตรวจโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทและวัดการตอบสนองจากเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ ขั้นตอนการตรวจเริ่มจากเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ตรวจด้วยแอลกอฮอล์ จากนั้นจะติดตัวรับสัญญาณบนผิวหนัง หลังจากเจ้าหน้าที่เตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยจะเริ่มทำการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณไฟฟ้าจนได้การตอบสนองของเส้นประสาทที่ดีที่สุด ระหว่างการตรวจผู้เข้ารับการตรวจจะรู้สึกแปล๊บ ๆ จากการวิ่งของไฟฟ้าไปตามแนวเส้นประสาท บางตำแหน่งอาจจะมีกล้ามเนื้อกระตุกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจ
2) Eletromyography
การตรวจขั้นตอนนี้แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กปักที่กล้ามเนื้อและตรวจดูสัญญาณไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อ ทั้งระหว่างที่ผู้เข้ารับการตรวจอยู่นิ่ง ๆ และระหว่างที่ออกแรงกล้ามเนื้อมัดนั้น ตำแหน่งและจำนวนกล้ามเนื้อที่ตรวจขึ้นอยู่กับภาวะหรือโรคที่แพทย์สงสัย โดยในระหว่างการตรวจแพทย์จะให้คำแนะนำแต่ละขั้นตอนเพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบขั้นตอนและรู้สึกไม่สบายตัวจากการตรวจน้อยที่สุด หากรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวระหว่างการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ระหว่างที่ตรวจได้ทันที
วิเคราะห์ผลตรวจเพื่อวางแผนรักษา
สัญญาณไฟฟ้าจากเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่ได้จากการตรวจทั้งสองส่วนจะถูกนำไปแปลงและปรากฏเป็นกราฟในคอมพิวเตอร์ จากนั้นแพทย์ผู้ทำการตรวจจะแปลและวิเคราะห์ผลที่ได้เพื่อนำมาสรุปเป็นรายงานผลการตรวจและใช้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป