หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ภาวะเท้าแบน ความผิดปกติที่ไม่ควรละเลย

เท้าแบน คือ ภาวะผิดปกติที่บริเวณอุ้งเท้าบริเวณกลางเท้าสูญเสียความสูงไปหรือแบนติดพื้น ซึ่งจะเห็นชัดเมื่อมีการลงน้ำหนัก ภาวะดังกล่าวทำให้กลไกการทำงานของเท้าและข้อเท้าสูญเสียไป ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและอาจนำไปสู่ความผิดรูปของข้อเท้าและนิ้วเท้าตามมาได้

ชนิดของภาวะเท้าแบน

ภาวะเท้าแบนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1) ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด

ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด แบ่งย่อยเป็นอีก 2 ประเภท ได้แก่

  • ภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่น เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากลักษณะที่อุ้งเท้าเด็กมีเนื้อเยื่ออ่อนหรือไขมันสะสมมาก โดยลักษณะทางกระดูกและข้อภายในเท้าปกติ หรืออาจเกิดจากความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นที่มากเกินไปในเด็กที่มีกายวิภาคเสี่ยงต่อการเกิดเท้าแบน ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นสามารถหายได้เองในบางราย
  • ภาวะเท้าแบนแบบติดแข็ง มักมีความผิดปกติของกระดูกและข้อภายในเท้าแต่กำเนิด ทำให้เท้ามีภาวะผิดรูป เท้ามีความพิสัยการขยับที่น้อยกว่าปกติ มีลักษณะการลงน้ำหนักเท้าที่ผิดปกติ และมักมีความเจ็บปวดตามจุดต่าง ๆ ของเท้าตามมา

2) ภาวะเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง

พบในผู้ใหญ่ที่ค่อย ๆ สูญเสียความสูงของอุ้งเท้าเมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น การเกิดเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเสื่อม ภาวะข้อเสื่อม เส้นเอ็นเสื่อมที่เกิดจากภาวะโรคอักเสบข้อเรื้อรัง เช่น โรคทางรูมาติสซั่ม ข้ออุ้งเท้าเสื่อม รวมไปถึงความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อในเท้าและข้อเท้าที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจากเส้นประสาทกดทับจากหมอนรองกระดูก หรือจากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุอื่น ๆ

อาการภาวะเท้าแบน

ภาวะเท้าแบนในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการหรือมีอาการเฉพาะหลังเดินหรือยืนเป็นเวลานาน แต่เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อาการเจ็บมักเป็นมากขึ้นรอบ ๆ ข้อเท้าและอุ้งเท้า หรือมีภาวะเท้าแบนที่เห็นชัดมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติม หากมีอาการต่อไปนี้

  • เจ็บอุ้งเท้าและส้นเท้า แม้สวมใส่รองเท้าที่รองรับเท้าได้ดีและนุ่มสบายแล้ว
  • ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น มีการอักเสบบวมแดงตามเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้า
  • ทรงตัวลำบาก ยืนเขย่งขาไม่ได้ หรือเดินขึ้นลงบันไดลำบาก
  • ไม่สามารถสวมใส่รองเท้าที่เคยใส่ได้ หรือรู้สึกอุ้งเท้าแบนมากยิ่งขึ้น
  • รู้สึกชาฝ่าเท้า หรือเส้นเอ็นนิ้วเท้าอ่อนแรงหรือผิดรูปมากขึ้น

ภาวะเท้าแบน ความผิดปกติที่ไม่ควรละเลย

ตรวจวินิจฉัยภาวะเท้าแบน

ผู้ป่วยสามารถประเมินภาวะเท้าแบนเบื้องต้นจากการสังเกตรอยเท้าที่เปียกน้ำเวลาวางบนพื้นแห้ง ถ้าไม่พบว่ามีส่วนโค้งเว้าบริเวณอุ้งเท้าแสดงว่ามีแนวโน้มภาวะเท้าแบน เมื่อพบภาวะเท้าแบนร่วมกับมีอาการตามที่ได้กล่าวเบื้องต้นควรพบแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียดด้วยการตรวจร่างกายเพื่อดูตำแหน่งกดเจ็บ แนวกระดูกเท้าและข้อเท้า รวมทั้งความแข็งแรงของเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้า

ในกรณีที่สงสัยภาวะเท้าแบนอาจจำเป็นต้องประเมินเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ปกติ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ซึ่งการพิจารณาการตรวจทางรังสีเพิ่มเติมขึ้นกับภาวะที่แพทย์ตรวจพบจากการตรวจร่างกาย ทั้งนี้เพื่อลดการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น

รักษาภาวะเท้าแบน

การรักษาภาวะเท้าแบนส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เช่น ใช้แผ่นรองเท้า กายอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์พยุงข้อเท้าต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุของโรค ร่วมกับการทำกายภาพที่เน้นการยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย และการลดการอักเสบของเส้นเอ็นด้วยเครื่องเลเซอร์หรืออัลตราซาวนด์ ร่วมกับการรับประทานยาแก้อักเสบ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษาด้วยวิธีข้างต้น การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นเพื่อจัดแนวกระดูกหรือเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดิน วิ่ง รวมถึงออกกำลังกายได้ตามปกติ