ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อน เป็นผลมาจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้เราจะอยู่ได้นานขึ้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมของร่างกายลงได้ และหนึ่งในโรคความเสื่อมที่เลี่ยงไม่ได้คือ โรคสมองเสื่อม ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่หาวิธีในการชะลอความเสื่อมของสมอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย รับประทานอาหาร หรือการฝึกสมอง มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2563 ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเข้าใจและความเชื่อของยาหรืออาหารเสริมที่มีผลต่อสุขภาพสมอง เพื่อเช็กว่าคนทั่วไปรู้หรือไม่ว่า ยาหรืออาหารเสริมที่ทานมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร โดยในแบบสอบถามได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้บ่อย ได้แก่ วิตามินอี แปะก๊วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน น้ำมันตับปลา ยาลดไขมันสเตติน (Statin) และยานอนหลับ เป็นที่น่าตกใจว่า เกินครึ่ง (46 – 64%) ไม่ทราบว่ายาหรืออาหารเสริมดังกล่าวมีผลดีต่อสมองหรือไม่ และที่แย่ยิ่งกว่าคือ 63 – 77% ไม่ทราบว่ายาดังกล่าวมีผลเสียต่อสมอง ทั้ง ๆ ที่ 68% ของผู้ทำแบบสอบถามจบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจข้อมูลยาหรืออาหารเสริมที่ใช้กันบ่อยว่ามีผลต่อสุขภาพสมองอย่างไร รวมทั้งดูแลสุขภาพสมองให้เหมาะสม
อาหารเสริมกับสมอง
กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจกันว่ามีผลดีต่อสมอง เช่น วิตามินอี แปะก๊วย น้ำมันตับปลา วิตามินดี จากการทบทวนงานวิจัยและบทความต่าง ๆ พบว่า วิตามินอีมีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมหรือความจำถดถอย ในส่วนของน้ำมันตับปลา แปะก๊วย วิตามินบี และวิตามินดีนั้น ข้อมูลมีไม่มาก แต่แนวโน้มเป็นไปในทางเดียวกันว่าไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคสมองเสื่อมเช่นกัน
มีเพียงการรับประทานวิตามินบี 12 ร่วมกับโฟลิกที่พบว่าอาจสามารถช่วยพัฒนาความจำ อย่างไรก็ตามผลนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญด้านอาการทางคลินิก ส่วนยาที่มีการใช้เพื่อบำรุงสมอง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดไขมัน ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) พบว่า ไม่ค่อยมีงานวิจัยที่มองถึงผลลัพธ์เรื่องการป้องกันสมองเสื่อม แต่ข้อมูลเท่าที่มีบ่งบอกไปในทางเดียวกันว่า ไม่ช่วยในการป้องกันสมองเสื่อม
ยิ่งไปกว่านั้นยาบางตัวที่ใช้โดยไม่จำเป็นอาจมีผลข้างเคียงที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอดร่วมด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าในส่วนของยาที่ใช้ในกรณีหวังผลป้องกันโรคสมองเสื่อมหรือสมองถดถอยนั้น ข้อมูลด้านประโยชน์ยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปได้ แต่มีโอกาสเกิดโทษและผลข้างเคียงจากยา ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวจึงควรใช้ให้ตรงกับข้อบ่งชี้ของยาและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาให้มากที่สุด
ในส่วนของอาหารเสริมที่ใช้ในการป้องกันโรคสมองเสื่อม มีข้อมูลออกมาคล้ายกันคือ ด้านประโยชน์ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปได้ แต่ข้อดีของยากลุ่มนี้คือ ไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงหรืออันตราย อย่างไรก็ตามการที่งานวิจัยสรุปออกมาว่ายังไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์อาจเกิดจากปัจจัยในงานวิจัย เช่น การใช้ชนิดอาหารเสริมที่ต่างกัน ยี่ห้อที่ต่างกัน กลุ่มประชากรที่ต่างกัน และพันธุกรรมในแต่ละประชากรแตกต่างกัน ดังนั้นบางคนที่รับประทานอาหารเสริมอาจมีประโยชน์หรือมีผลข้างเคียงขึ้นมาได้เช่นกัน
ยากับสมอง
ยาที่มีผลเสียต่อสมอง มีข้อมูลไปในทางเดียวกันว่าคือ กลุ่มยาต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic Drugs) มีผลเสียต่อสมองอย่างชัดเจน ส่งผลให้การทำงานของสมองถดถอยลงได้ แต่ในส่วนของยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอาเซปีน (Benzodiazepine) มีงานวิจัยในอดีตพบว่า คนที่รับประทานยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเสื่อมของสมองมากขึ้น และความเสี่ยงดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากหยุดยา
แต่ในข้อมูลปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมาว่าความเสี่ยงดังกล่าวอาจไม่ได้ชัดเจนมากเท่าที่เคยทราบกันมา อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากงานวิจัยต่าง ๆ ใช้แบบทดสอบการทำงานของสมองที่แตกต่างกัน ชนิดยานอนหลับที่ต่างกัน จำนวนประชากรหรือระยะเวลาในการติดตามที่ต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้ยังสรุปให้ชัดเจนไม่ได้ว่า การทานยานอนหลับกลุ่มนี้มีผลต่อการทำงานของสมองหรือไม่ แต่ผลการศึกษาโดยรวมพบแนวโน้มว่ามีผลเสียต่อการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้นอกจากมีผลเสียต่อสมองแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการทานยากลุ่มนี้ เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยา
โดยสรุปข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเสริมหรือยายังมีหลักฐานไม่ค่อยชัดเจนเกี่ยวกับผลในการบำรุงสมอง ที่สำคัญยาบางชนิดมีผลเสียต่อสมองอีกด้วย
หลักบำรุงสมองชะลอความเสื่อม
วิธีบำรุงสมองหรือชะลอการเสื่อมของสมองได้มีงานวิจัยตีพิมพ์ใน Lancet ปี 2020 เกี่ยวกับการป้องกันการเสื่อมของสมองว่ามีหลักการ 2 ข้อ ได้แก่
- เลี่ยงอุบัติเหตุทางศีรษะและลดการสัมผัสมลภาวะทางอากาศ
ในส่วนของการลดการบาดเจ็บและลดการอักเสบของสมองจะเน้นไปที่การควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25) งดการสูบบุหรี่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมต่อสมอง และที่สำคัญคือการเลี่ยงการสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดทำลายของเซลล์สมอง - เพิ่มศักยภาพการทำงานของสมอง
การเพิ่มศักยภาพการทำงานของสมองมีหลายวิธี เช่น การพูดคุยพบปะกับผู้อื่นในสังคม (Social Engagement) การออกกำลังกายแบบแอโรบิกสม่ำเสมอ และการฝึกฝนสมอง (Cognitive Training) เช่น อ่านหนังสือ คิดเลข ฝึกหัดใช้อุปกรณ์หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งวิธีเพิ่มศักยภาพสมองดังกล่าวมีเพียงบางงานวิจัยที่สนับสนุนว่าช่วยชะลอและป้องกันการถดถอยของสมองได้ อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้โดยเฉพาะการออกกำลังกายไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือร่างกาย และยังอาจมีผลดีต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้หากมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ควรรีบแก้ไขและรักษา เนื่องจากการสูญเสียการได้ยินเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน
อาหารเมดิเตอร์เรเนียนกับสมอง
มีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) มีส่วนช่วยลดการอักเสบทั้งร่างกายและสมอง มีงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์ Alzheimer’s & Dementia เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ช่วยยืนยันผลงานวิจัยต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ว่า การรับประทานอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียนนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองถดถอยได้จริง และยังพบอีกว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนในกลุ่มปลาสามารถชะลอภาวะสมองถดถอยได้อีกด้วย
แอลกอฮอล์กับสมอง
ในส่วนของแอลกอฮอล์กับสุขภาพสมอง งานวิจัยค่อนข้างชัดเจนว่า ปริมาณที่ดื่มสัมพันธ์โดยตรงกับการทำงานของสมองที่แย่ลง โดยคนที่ดื่มตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป (มากกว่า 8 Drinks / สัปดาห์) มีผลทำให้สมองทำงานถดถอยลงมาก แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้อย (น้อยกว่า 4 Drinks / สัปดาห์) มีหลายงานวิจัยพบว่าไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันสมองถดถอย แต่มีผลค่อนข้างชัดเจนในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ
ที่สำคัญมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าคนที่เคยดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากแล้วลดลงมาจนถึงระดับน้อยจะมีการทำงานของสมองที่ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ลดปริมาณการดื่ม ดังนั้นหากไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วก็ไม่แนะนำให้เริ่มดื่ม แต่หากดื่มปริมาณมากแนะนำให้ลดลงมาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (1 Drink ประมาณ 360 ซีซีของเบียร์ที่มี 4 – 5% แอลกอฮอล์ หรือ 150 ซีซีของไวน์ที่มี 12% แอลกอฮอล์ หรือ 45 ซีซีของเหล้า / วิสกี้ที่มี 40% แอลกอฮอล์)
ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา หรือการเพิ่มศักยภาพสมองด้วยวิธีต่าง ๆ อาจไม่ได้ช่วยชะลอการถดถอยของสมองได้มากจึงเป็นที่มาของงานวิจัยสำคัญที่ใช้วิธีการทุกอย่างร่วมกัน ทั้งปรับเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การฝึกทำงานของสมอง และการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางหลอดเลือดต่าง ๆ ให้ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ซึ่งผลสรุปจากงานวิจัยดังกล่าวไปในทางเดียวกันว่ามีส่วนช่วยในการชะลอการถดถอยของสมองได้จริง
ดังนั้นสรุปหลักการง่าย ๆ ในการรักษาสุขภาพสมอง คือ ไม่ทำให้สมองบาดเจ็บและพยายามเพิ่มศักยภาพของสมองอยู่เสมอ ด้วยการหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้สมองทำงานถดถอย ควบคุมรักษาโรคประจำตัวให้ดี ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ งดการสูบบุหรี่ มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น รักษาการได้ยินให้ดี รับประทานอาหารที่ครบถ้วนและมีประโยชน์ต่อร่างกาย (เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน) และออกกำลังกายชนิดแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ 3 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพียงเท่านี้ก็สามารถมีสุขภาพสมองที่ดีและไม่เสื่อมก่อนวัย
Ref.
-
Lutz W, Sanderson W, Scherbov S, et al. The coming acceleration of global population ageing. Nature 2008
-
Marcum ZA, Hohl SD, Barthold D, et al. Beliefs about benefits and harms of medications and supplements for brain health. Prevent Med Rep 2020
-
Fink HA, Jutkowitz E, McCarten JR, et al. Pharmacologic interventions to prevent cognitive decline, mild cognitive impairment, and clinical Alzheimer-type dementia: a systematic review. Ann Intern Med 2018
-
Butler M, Nelson VA, Davila H, et al. Over-the-counter supplement interventions to prevent cognitive decline, mild cognitive impairment, and clinical Alzheimer-type dementia: a systematic review. Ann Intern Med 2018
-
National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine; Health and Medicine Division; Board on Health Sciences Policy; Committee on Preventing Dementia and Cognitive Impairment; Downey A, Stroud C, Landis S, et al. Preventing cognitive decline and dementia: a way forward. Washington DC: The National Academies Press 2017
-
Gray SL, Anderson ML, Dublin S, et al. Cumulative use of strong anticholinergics and incident of dementia: a prospective cohort study. JAMA Intern Med 2015
-
Coupland CAC, Hill T, Dening T, et al. Anticholinergic drug exposure and the risk of dementia: a nested case-control study. JAMA Intern Med 2019
-
Gallacher J, Elwood P, Pickering J, et al. Benzodiazepine use and risk of dementia: prospective population based study. Br Med J 2012
-
Picton JD, Marino AB, Nealy KL. Benzodiazepine use and cognitive decline in the elderly. Am J Health-System Pharm 2018
-
Nader D, Gowing L. Is Long-Term Benzodiazepine Use a Risk Factor for Cognitive Decline? Results of a Systematic Review. J Addict 2020
-
Livingston G, Sommerlad A, Orgeta V, et al. Dementia prevention, intervention, and care. Lancet 2017
-
Scarmeas N, Stern Y, Mayeux R, et al. Mediterranean diet and mild cognitive impairment. Arch Neurol 2009
-
Valls-Pedret C, Sala-Vila A, Serra-Mir M, et al. Mediterranean Diet and Age-Related Cognitive Decline: A Randomized Clinical Trial. JAMA Intern Med 2015
-
Keenan TD, Agron E, Mares JA, et al. Adherence to a Mediterranean diet and cognitive function in the Age-Related Eye Disease Studies 1&2. Alzheimers Dement 2020
-
Hassing LB. Light Alcohol Consumption Dose Not Protect Cognitive Function: A Longitudinal Prospective Study. Front Aging Neurosci 2018
-
Brennan SE, McDonald S, Page MJ, et al. Long-term effects of alcohol consumption on cognitive function: a systematic review and dose-response analysis of evidence published between 2007-2018. Systematic Review 2020
-
Kuiper JS, Zuidersma M, Oude Voshaar RC, et al. Social relationships and risk of dementia: a systematic review and meta-analysis of longitudinal cohort studies. Ageing Res Rev 2015
-
Valenzuela MJ, Sachdev P. Brain reserve and dementia: a systematic review. Psychol Med 2006
-
Young J, Angevaren M, Rusted J, et al. Aerobic exercise to improve cognitive function in older people without known cognitive impairment (Review). Cochrane Database Syst Rev 2015
-
Stillman CM, Esteban-Cornejo I, Brown B, et al. Effects of Exercise on Brain and Cognition Across Age Groups and Health States. Trends Neurosci 2020
-
Deal JA, Betz J, Yaffe K, et al. Hearing impairment and incident dementia and cognitive decline in older adults: the Health ABC Study. J Gerontol A Biol Sci Med Sci 2016
-
Ngandu T, Lehtisalo J, Solomon A, et al. A 2 Year Multidomain Intervention of Diet, Exercise, Cognitive Training, and Vascular Risk Monitoring Versus Control to Prevent Cognitiv Decline in At Risk Elderly People (FINGER): A Randomised Controlled Trial. Lancet 2015
-
Charante EP, Richard E, Eurelings LS, et al. Effectiveness of a 6-year Multidomain Vascular Care Intervention to Prevent Dementia (preDIVA): A Cluster-Randomised Controlled Trial. Lancet 2016
-
Andrieu S, Guyonnet S, Coley N, et al. Effect of Long-Term Omega 3 Polyunsaturated Fatty Acid Supplementation With or Without Multidomain Intervention on Cognitive Function in Elderly Adults With Memory Complaints (MAPT): A Randomised, Placebo-Controlled Trial. Lancet Neurol 2017
-
Kivipelto M, Mangialasche F, Ngandu T. Lifestyle intervention to prevent cognitive impairment, dementia and Alzheimer disease. Nat Rev Neurol 2018