หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ตรวจยีนรู้ทันความเสี่ยงอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในคนไทย ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะหลงลืมในสิ่งที่เคยทำ ลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ ลืมคนใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ ต้องมีคนคอยดูแล การรู้ทันความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ด้วยการตรวจยีนจึงเป็นอีกทางเลือกในการตรวจเช็กสมองเพื่อดูแลให้ห่างไกลความเสื่อม


อัลไซเมอร์คืออะไร

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) มักพบในผู้สูงวัยมากกว่าวัยอื่น เชื่อว่าเกิดจากความเสื่อมของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง โดยมีการสะสมของโปรตีนที่ชื่อว่า เบตาอะไมลอยด์ (Beta – Amyloid) และทาว (Tau) มีผลทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง และการสื่อสารของเซลล์สมองเกิดความเสียหาย มีผลต่อความจำ และอาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่สุด


ระดับความรุนแรงของอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร

ระดับความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์มีตั้งแต่ระยะก่อนสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต่อมาในช่วงเริ่มสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความจำในระยะสั้นหรือความจำใหม่ ๆ เริ่มทำอะไรช้าลง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงภาวะสมองเสื่อมจะมีอาการสับสน ลืมเรื่องราวต่าง ๆ ไปมาก ทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ บกพร่องในการใช้ภาษาและการพูดตามมา จนกระทั่งสมองเสื่อมรุนแรงจะสูญเสียความจำแทบทั้งหมด ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา


กลุ่มเสี่ยงอัลไซเมอร์คือใคร

  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่เคยมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ

อัลไซเมอร์เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอย่างไร

อัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะมีกลุ่มที่มีอาการก่อนอายุ 65 ปี ซึ่งพบได้น้อยมากจากการถ่ายทอดพันธุกรรมโดยตรงจากพ่อแม่ไปสู่ลูก และกลุ่มที่มีอาการหลังอายุ 65 ปีจะพบได้บ่อยกว่า คือมีลักษณะยีนเสี่ยงจากพันธุกรรมอัลไซเมอร์ของคนในครอบครัว


ตรวจยีนรู้ทันความเสี่ยงอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์มีความเกี่ยวข้องกับยีนใดบ้าง

โรคอัลไซเมอร์มีความเกี่ยวข้องกับยีนที่มีชื่อว่า APOE (Apolipoprotein E) เป็นยีนที่มีหน้าที่ลำเลียงไขมันในร่างกายและกำจัดของเสีย โดย APOE4 เป็นหนึ่งในรูปแบบของยีน APOE ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ คนส่วนใหญ่ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมียีน APOE4 ที่มีผลกับการเผาผลาญไขมันในเซลล์สมอง อาจทำให้ความจำบกพร่องได้ โดยจะเริ่มเกิดขึ้นทีละนิดตั้งแต่อายุ 40 – 50 ปี และจะแสดงอาการหลังอายุ 65 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ดี การมียีน APOE4 ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอัลไซเมอร์ และคนที่ไม่มียีนนี้ก็สามารถเป็นอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน


ข้อดีของการตรวจยีนประเมินความเสี่ยงอัลไซเมอร์

เพราะอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลออาการไม่ให้แย่ลงเร็วด้วยวิธีการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ดังนั้นหากมีอาการเสี่ยงอัลไซเมอร์ อาทิ หลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สับสนทิศทางหรือสถานที่ จำคนใกล้ชิดไม่ได้ มีปัญหาการสื่อสาร อารมณ์รุนแรงเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์โดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะประเมินและให้คำแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคทางสมอง รวมถึงการตรวจยีนประเมินความเสี่ยงอัลไซเมอร์ในแต่ละบุคคลตามความเหมาะสม


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคอัลไซเมอร์

นพ.ชาคร จันทร์สกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคอัลไซเมอร์

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา ฟื้นฟูและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น