หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / เคล็ดลับสุขภาพ /
บอกลาปวดเมื่อยเรื้อรัง ด้วยเคล็ดลับดูแลสุขภาพ “หลัง”

เคยไหม? ปวดหนึบ ๆ บริเวณหลังและคอ จนทำให้พาลหงุดหงิดไปทั้งวัน

อาการเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับคนหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการใช้หลังไม่ถูกต้อง หรือมีการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทั้งยืน เดิน นั่ง หรือแม้กระทั่งนอน
อาการปวดหนึบ ๆ นั้นอาจหายไปได้เอง เมื่อกล้ามเนื้อได้รับการผ่อนคลาย แต่ใช่ว่าหายแล้วจะแล้วกัน การเดิน นอน นั่ง ยกของ ลากของ และสารพัดท่าทางไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจะคอยบั่นทอนสุขภาพกล้ามเนื้อให้อ่อนแอลงเรื่อย ๆ โดยตัวคุณเองก็ไม่รู้ตัว และจะสำแดงเดชอีกครั้งเมื่อคุณมีอาการปวดเรื้อรัง หรือปวดเฉียบพลัน
ปวดหลังแค่นี้ รู้ตัวอีกทีอาจเป็นโรคกระดูกสันหลัง
ก่อนอาการเหล่านี้จะสร้างปัญหาให้กับคุณ เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกัน
  • ยกของ ประคองหลัง :

    ย่อเข่าลงให้ใกล้ของที่จะยกมากที่สุด จับสิ่งของนั้นให้มั่นคง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องขณะยกของขึ้น ห้ามก้มและบิดเอี้ยวขณะยก

  • รถเข็น เซฟหลัง :

    ใช้รถเข็นช่วยในการเคลื่อนย้ายและหลีกเลี่ยงการก้มตัว แต่ให้ดันรถเข็นโดยใช้แรงจากกล้ามเนื้อขาและแขน พร้อมรักษาแนวของหลังให้ตรงขณะดันรถไปข้างหน้า

  • หยิบของในที่สูง :

    เลี่ยงการเอื้อมหยิบของสุดปลายมือ ควรใช้เก้าอี้ช่วยเสริมความสูงและเขยิบเข้าไปให้ใกล้กับของที่จะหยิบมากที่สุด พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องขณะยก

  • นั่งสบาย คลายปวดหลัง :

    ควรเลือกนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงรองรับแผ่นหลังทั้งหมด และมีความโค้งรองรับแนวของกระดูกสันหลังช่วงเอว หรือหาหมอนเล็ก ๆ มาหนุนหลัง ขณะทำงานควรเลื่อนเก้าอี้เข้าใกล้โต๊ะทำงานมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการก้มตัว และเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ

ข้อควรระวัง

หากอาการปวดหลัง ปวดคอรุนแรงจนทนไม่ไหว หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ หรือมีอาการปวดเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดชาตามแขนหรือขา อาการอ่อนกำลังของกล้ามเนื้อ เหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าอาจมีอาการร้ายแรงต่อกระดูกสันหลังเกิดขึ้น เช่น กล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังหรือกระดูกสันหลังเสื่อม เนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลังและรากประสาท ภาวะติดเชื้อของกระดูกสันหลัง ดังนั้นเพื่อหยุดยั้งไม่ให้อาการลุกลามจนเกินแก้ไข คุณควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ เพียงเท่านี้ก็จะมีสุขภาพหลังที่ดีไปอีกนาน

ข้อมูล : นพ.สุปรีชา กาพิยะ ประสาทศัลยแพทย์และศัลยกรรมกระดูกสันหลัง