มือ นับเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญ ใช้ในการหยิบจับสิ่งของ รวมทั้งการทำกิจวัตรประจำวันแทบทุกอย่างในชีวิต หากมือประสบปัญหาหรือเกิดอุบัติเหตุอันจะเป็นสาเหตุทำให้มือเกิดความผิดปกติไป ควรรีบทำการรักษาจากทีมแพทย์ที่มีความชำนาญเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมือเป็นอวัยวะที่มีขนาดเล็กและมีความซับซ้อน ที่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการรักษา
ส่วนประกอบของมือ
- กระดูก
- เส้นเอ็น
- เส้นประสาท
- เส้นเลือด
- ข้อเล็ก ๆ
สาเหตุของปัญหาทางมือ
ปัญหาในมือที่พบได้บ่อยมักมีสาเหตุมาจาก
- อุบัติเหตุ ได้แก่ กระดูกหัก เส้นเอ็นขาด เส้นเลือดขาด เส้นประสาทขาด หรือผิวหนังบอบช้ำ
- ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ได้แก่ นิ้วล็อค เส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบ หรือโรคผังผืดเส้นประสาทที่ข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบ เนื้องอกเส้นประสาทบริเวณมือ
อุบัติเหตุทางมือ
- อุบัติเหตุทางมือชนิดไม่รุนแรง อย่างมีดบาดหรือมือเข้าไปในเครื่องปั่น
การดูแลเบื้องต้นก่อนมาโรงพยาบาลที่ถูกวิธีคือ ใช้ผ้าก๊อซปิดและกดบาดแผล ถ้าบาดแผลที่นิ้วหรือข้อมือควรทาบด้วยไม้กระดานเล็กก่อนปิดผ้าก๊อซและพันด้วยผ้ายีดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วหรือข้อมือบิดไปมา ปลายนิ้วอาจตายได้หากเลือดไปเลี้ยงไม่สะดวก และยกมือให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดออกน้อยลง - อุบัติเหตุทางมือชนิดรุนแรง ขาดทั้งกระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือดทุกอย่างพร้อมกัน
วิธีการรักษาเริ่มจากต่อกระดูกก่อน จากนั้นจึงทำการต่อเส้นเอ็น เส้นประสาท และเส้นเลือดตามลำดับ
หากเกิดอุบัติเหตุนิ้วหรือมือขาด วิธีการเก็บที่ถูกวิธีคือ เก็บอวัยวะส่วนนั้นมาโรงพยาบาลโดยใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด มัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปแช่ในน้ำแข็งเพื่อรักษาเซลล์ให้คงสภาพดี ไม่ควรนำอวัยวะที่ขาดแช่ในน้ำแข็งโดยตรงเพราะเนื้อเยื่ออาจตาย และควรมาถึงโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง
หลักการรักษามือ
การรักษามือนั้นซับซ้อนและต้องละเอียดพอควร หลักการรักษาจึงแบ่งออกตามส่วนประกอบสำคัญของมือ คือ
- กระดูก
หลักการรักษาคือ ทำให้กระดูกแข็งแรงและเคลื่อนไหวโดยเร็วที่สุด หากปล่อยไว้นานเคลื่อนไหวช้าข้อนิ้วมือจะยึดติด แพทย์จะใส่เหล็กดามเล็ก ๆ เข้าไปยึดกระดูกนิ้วมือให้ประสานกัน โดยกระดูกส่วนที่หักบ่อย คือ กระดูกนิ้วมือและข้อมือ เพราะมือเกิดอุบัติเหตุง่าย และเป็นส่วนที่กระดูกเล็ก สาเหตุอาจเกิดจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุรถยนต์ ขับรถ Big Bike ทำให้โอกาสกระดูกหักมีมาก รวมทั้งคนสูงอายุ เวลาล้มหรือเกิดอุบัติเหตุมักใช้มือยันพื้นป้องกันตัว - เส้นเอ็น
ถ้าเอ็นขาดที่มือ หลักการต่อเส้นเอ็นมือคล้ายกันกับกระดูกคือ ต้องต่อเส้นเอ็นให้แข็งแรงพอที่จะเคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด และไม่มีแผลเป็น ถ้ารักษาช้าจะเกิดแผลเป็นหรือพังผืดในเส้นเอ็น เนื่องมาจากช่องว่างในนิ้วมือค่อนข้างเล็ก หากเส้นเอ็นเกิดแผลเป็นหนาจะทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ดี ข้อจะติด เพราะฉะนั้นการต่อเส้นเอ็นต้องต่อให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืด การผ่าตัดต่อเส้นเอ็นในมือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ในสมัยก่อนอาจารย์แพทย์ผ่าตัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากเส้นเอ็นขาดตรงนิ้วมือ ไม่ต้องต่อ เพราะสมัยนั้นเทคนิคการผ่าตัดยังไม่ดีพอ ยิ่งผ่าตัดต่อเส้นเอ็นยิ่งทำให้เกิดแผลเป็นในเส้นเอ็นและมีปัญหามากขึ้น จนปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมาก มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดรักษาดีขึ้น สามารถต่อเส้นเอ็นที่ขาดโดยไม่มีแผลเป็น เส้นเอ็นที่ขาดมานานแล้วต่อไม่ได้จะนำเอาเส้นเอ็นจากส่วนอื่นในร่างกายมาใช้ทดแทนส่วนที่เกิดปัญหา เช่น เส้นเอ็นจากส่วนขา การผ่าตัดต่อเส้นเอ็นด้วยไหมสารสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรง ทำให้เคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ทำให้ต่อเส้นเอ็นโดยมิให้เกิดรอยแผลเป็นในเส้นเอ็น จึงกล่าวได้ว่า ‘การผ่าตัดทางมือต้องใช้ศาสตร์ที่ครบเครื่อง’ ไม่ว่าจะเป็น กระดูก เส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท แพทย์ที่ผ่าตัดมือต้องมีความครบเครื่อง เปรียบได้กับ เป็นทั้งช่างทอง (ต่อเส้นเลือด เส้นเอ็น เส้นประสาทเส้นเล็ก ๆ ผ่านกล้อง) และช่างไม้ (ต่อกระดูก) เป็นต้น - เส้นประสาท
ในมือของคนเรามีหน้าที่รับรู้ความรู้สึก การต่อเส้นประสาทที่ขาดต้องทำการรักษาด้วยการต่อเส้นประสาท เนื่องจากเส้นประสาทมีขนาดที่เล็กมาก ยิ่งปลายนิ้ว ยิ่งต่อยาก การต่อจึงต้องใช้ความละเอียดสูง โดยใช้ไหมเส้นเล็ก ๆ ยิ่งบริเวณส่วนปลายมือ เส้นประสาทยิ่งมีขนาดเล็กจึงต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงที่เรียกว่า Microsurgery ดังนั้นการต่อรักษาเส้นประสาทจึงต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านมือและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ หากเส้นประสาทเสียหายมาก ๆ ต่อติดไม่ได้ หรือต่อช้านานเกิน 1 ปี จะทำให้กล้ามเนื้อมือลีบ แพทย์จะใช้เทคนิคการย้ายเส้นเอ็นจากส่วนอื่นมาช่วยทดแทนกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ไม่ทำงาน เนื่องจากเส้นประสาทที่เสียหายเพื่อให้นิ้วมือสามารถขยับใช้งานได้ - เส้นเลือด
ถ้าขาดก็ต้องทำการผ่าตัดต่อเส้นเลือดโดยเร็ว
นอกจากนี้มือจะต้องมีการรับความรู้สึกจึงต้องมีผิวหนังที่ดี ผิวหนังที่มือเรามีความแตกต่างกับผิวส่วนอื่นของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังฝ่ามือเป็นส่วนที่เราใช้สัมผัส มีความหนาเป็นพิเศษ ใต้ผิวหนังมีเส้นประสาทรับความรู้สึกค่อนข้างมากเพื่อให้ใช้งานได้ หากมือเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าอาจทำให้เซลล์ผิวหนังไหม้เสียหาย แพทย์จะทำการย้ายผิวหนังจากส่วนอื่นมาทดแทน และบางครั้งเนื้อที่เอามาต้องต่อเส้นเลือดด้วย เพราะฉะนั้นแพทย์เฉพาะทางด้านมือจะดูแลทุกส่วนประกอบของมือรวมทั้งผิวหนัง เพื่อให้มือสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
ผ่าตัดมือ ผ่าเร็วเคลื่อนไหวได้ดี
หลักการผ่าตัดมือ คือ ต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อคนไข้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ก่อนผ่าตัดต่อนิ้วนั้น แพทย์จะพิจารณาถึงลักษณะความรุนแรงของการบาดเจ็บและตำแหน่งที่ขาด ในกรณีที่คนไข้มาถึงโรงพยาบาลช้า โอกาสติดเชื้อหรือเนื้อตายย่อมมีมากขึ้น หรือในกรณีที่ทำการรักษามาแล้วแต่ไม่หายนานเกิน 1 ปี กระดูกติดแต่ผิดรูป เส้นเอ็นต่อแล้วใช้การไม่ได้ เส้นประสาทเสียหายเป็นเวลานานต่อไม่ได้ ย่อมทำให้การเคลื่อนไหวมือหรือนิ้วอาจดีไม่เท่าเดิม ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาควรรีบส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด ประกอบกับแพทย์ใช้เทคนิคการรักษาที่ถูกต้อง
นอกจากนี้โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลยังให้บริการรักษาโรคเนื้องอกเส้นประสาทมือ โรคข้อเสื่อมในโคนนิ้วหัวแม่มือ รวมถึงผ่าตัดแก้ไขปัญหาทางมือที่ซับซ้อน โดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ เพื่อการดูแลกระดูกและข้อครบทุกส่วนของร่างกาย ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล