การกดทับเส้นประสาทที่ฝ่ามือจะทำให้มีอาการปวดมือและปวดร้าวขึ้นไปที่แขน มักจะมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนางตามแนวของเส้นประสาท ตามภาพ
อาการมือชา
- อาการปวดจะมีมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นาน ๆ เช่น การจับมีด กรรไกร การทำงานช่างที่ใช้ค้อน หรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือน ตั้งแต่เครื่องเป่าผมจนถึงเครื่องกระแทกเจาะคอนกรีต
- มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือเวลาตื่นนอนเช้า บางรายที่ถูกกดทับอยู่นาน ๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของมือ เช่น จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรง
- เวลากำมือโดยเฉพาะการใช้มือหยิบของเล็ก ๆ จะทำได้ลำบากและมีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ
สาเหตุมือชา
อาการปวดและชาเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันสูงในช่องอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านที่บริเวณฝ่ามือ เนื่องจากมีการอักเสบและการหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืดที่คลุมช่องอุโมงค์นี้ เกิดการกดทับเส้นประสาทและเส้นประสาทในรายที่เป็นอยู่นาน ๆ ก็จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดบาง ๆ รัดเส้นประสาทอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
ตรวจวินิจฉัย
ในบางรายอาจต้องใช้การตรวจระบบไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
ปัจจัยเสี่ยงและโรคที่เกี่ยวข้อง
- โรคเบาหวาน
- โรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์
- โรคต่อมไทรอยด์บกพร่อง
- ภาวะตั้งครรภ์
- ก้อนถุงน้ำหรือเนื้องอกในช่องอุโมงค์
- กระดูกหักบริเวณข้อมือ
- การใช้งานมือนาน ๆ
- ภาวะบวมน้ำจากโรคไต โรคตับ
รักษามือชา
- หลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนาน ๆ
- ควบคุมหรือรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานให้ดี
- การใช้ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดรับประทาน มักจะได้ผลดีโดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
- บางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือชั่วคราว
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในช่องอุโมงค์ ช่วยลดการอักเสบและบางรายจะหายได้
การผ่าตัด
เป็นการรักษาในรายที่มีอาการมาก หรือกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือลีบลง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา และทำให้หายขาดได้ การผ่าตัดจะเป็นการตัดและเลาะพังผืดที่รัดเส้นประสาท ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก และผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ภายใน 2 สัปดาห์