หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังในเวลาที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดินหรือกระโดด ภายในมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ พอนานวันเข้าเปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังลดลง ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง เมื่อหมอนรองกระดูกไปกดทับเส้นประสาทส่วนใดก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น

หมอนรองกระดูกบริเวณใดเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาทบ่อยที่สุด

หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณข้อด้านล่างของกระดูกเอวเป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงที่สุดและพบการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอที่มีโอกาสเสื่อมมากจากการใช้งานหนัก ทั้งนี้หากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ยุบตัวลงมา แต่ไม่กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยก็อาจไม่มีอาการปวด แต่หากหมอนรองกระดูกยังไม่เสื่อม แต่บังเอิญไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการเจ็บปวดตามมา


ปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทต่างจากปวดหลังทั่วไปอย่างไร

ผู้ป่วยกว่า 80% – 90% ที่ปวดหลังจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังบริเวณกลางหลังหรือปวดเอวด้านล่าง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการยกของ ออกกำลังกาย หรือนั่งนาน ๆ หากกดตามแนวกล้ามเนื้อจะรู้สึกเจ็บ เพราะกล้ามเนื้อเกิดอาการล้า แต่สำหรับอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะอยู่ลึกกว่า เมื่อกดบริเวณหลังจะไม่ค่อยเจ็บ แต่หากกดทับเส้นประสาทบางส่วนที่ไปเลี้ยงด้านหลังจะทำให้ปวดร้าวไปข้างหลังได้ แต่ส่วนมากจะเป็นเส้นประสาทที่ลงไปเลี้ยงที่ขา นอกจากอาการปวดแล้ว อาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างมาก นอกจากนี้จะปวดตรงส่วนที่ระคายเคืองและปวดตามแนวเส้นประสาทด้วย อีกอาการที่ค่อนข้างชัดคือ ปวดเวลาไอ จาม หรือเบ่ง เพราะอาการเหล่านี้ไปเพิ่มแรงดันในไขสันหลัง อาจเป็นสัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้


หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทพบมากในวัยใด

แม้หมอนรองกระดูกสันหลังของทุกคนจะต้องเสื่อมสภาพไม่ว่าจะช้าหรือเร็วแต่ส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทพบมากใน 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พอออกแรงหรือใช้แรงเบ่งมาก ๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ทันที เรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน

  2. วัยหนุ่มสาวที่ทำกิจกรรมเยอะ ชอบออกกำลังกายหนัก ๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุมาก่อน มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่า คนที่ทำกิจกรรมเยอะจะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่า แต่ในคนที่ใช้งานกระดูกสันหลังไม่ถูกต้อง เช่น ออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้เช่นกัน 

ตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทอย่างไร

แพทย์เฉพาะทางจะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยซักถามประวัติลักษณะการเจ็บปวดเวลาที่แสดงอาการปวดหากตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกปวดหลังทุกวันแต่พอตอนกลางวันหายปวดสาเหตุอาจเกิดจากกิจกรรมที่ทำตอนกลางคืนเช่นนอนที่นอนนิ่มไปแต่หากตอนเช้าไม่ปวดมาปวดตอนบ่ายๆอาจเกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังผิดท่านอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังแตกเฉียบพลันส่วนใหญ่เป็นนักกอล์ฟที่ต้องใช้แรงเคลื่อนไหวการบิดตัวเอี้ยวตัวมากผู้ป่วยบางคนมาพร้อมอาการอื่นร่วมด้วยเช่นอาการชารู้สึกเป็นเหน็บบางคนหนักถึงขั้นเท้าตกในกรณีที่ปวดเป็นครั้งแรกๆปวดในคนที่อายุน้อยปวดโดยมีสาเหตุชัดเจนเช่นยกของหนักก้มๆเงยๆมักจะเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังที่ไม่ร้ายแรงแพทย์จะรักษาตามอาการแต่หากกินยาแล้วไม่หายปวดเรื้อรังปวดลงขาอาจเป็นสัญญาณหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแพทย์จะส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจ MRI หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยแนวทางในการรักษาโรคต่อไป


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องดีอย่างไร

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Microscope กำลังขยายสูง และการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope สามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปนำหมอนรองกระดูกที่แตกออกมาได้โดยตรง ขณะทำการผ่าตัดแพทย์สามารถมองเห็นเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกที่ต้องการแก้ไขชัดเจนกว่าการมองด้วยตาเปล่า ช่วยให้การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะข้างเคียงน้อย มีข้อดีคือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ระยะฟื้นตัวสั้น ผู้ป่วยเจ็บน้อย หายไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะตรวจวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษา รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยคำนึงถึงการรักษาที่เน้นการแก้ปัญหาที่สาเหตุเป็นหลัก


หลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทต้องดูแลอย่างไร

หลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะหายจากอาการปวดแต่จำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายและดูแลสุขภาพหลังอย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังช่วยพยุงกระดูกสันหลังปรับเปลี่ยนท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นการยกของหนักการนั่งนานๆต้องเปลี่ยนเก้าอี้ที่เหมาะสมหาที่รองหลังมาเสริมและไม่ควรนั่งท่าเดิมนานเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเจ็บปวดทรมานจากโรคนี้ สำหรับคุณผู้หญิงเลี่ยงกระเป๋าสะพายหนัก ๆ รองเท้าส้นสูง เพราะมีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็ว นอกจากนี้ต้องงดสูบบุหรี่และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง