หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
อากาศร้อนต้องระวังโรคลมแดด

รู้จักโรคลมแดด

โรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งมักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง โดยภาวะฮีทสโตรกมักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส (104 ฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง 

ภาวะ Heatstroke อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ที่สำคัญหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย โดยบางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ 


ลมแดดกับโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะ Heatstroke แตกต่างจาก Stroke ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอีกชนิดของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ / อุดตัน (Ischemic Stroke) หรือแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา พูดลำบาก ปากเบี้ยว หรือการทรงตัวผิดปกติเฉียบพลัน โดยผู้ป่วย Stroke ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเช่นกัน แต่จะมีแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างไปจาก Heatstroke


สาเหตุโรคลมแดด 

โรคลมแดดแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามสาเหตุที่ทำให้เกิด ได้แก่  

  1. Classic Heatstroke or Non – Exertional Heatstroke เกิดจากการที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงตาม มักพบในผู้ที่อยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและชื้นเป็นเวลานาน
  2. Exertional Heatstroke ในกรณีนี้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจากการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง และโอกาสเกิดจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาและมากเกินไปจนเหงื่อระเหยและระบายความร้อนได้ยาก ภาวะขาดสารน้ำ การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้กลไกการควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติไปก็เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิด Heatstroke ได้ 

ปัจจัยเสี่ยงโรคลมแดด 

ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีโอกาสเกิดโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น ได้แก่ 

  • อายุที่น้อยหรือมากเกินไป
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะอ้วน หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • การใช้ยาบางกลุ่มที่ทำให้สูญเสียสารน้ำหรือร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิกายที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ เช่น ยากลุ่มกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด (Vasoconstrictors) ยาลดความดันหรือรักษาโรคหัวใจ (Beta – Blockers) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) และยาทางจิตเวชบางกลุ่ม (Antidepressants, Antipsychotics และ Psychostimulants) รวมทั้งสารเสพติดกลุ่ม Amphetamines และ Cocaine
  • การที่ร่างกายต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ในกรณีที่เดินทางท่องเที่ยวไปประเทศที่อากาศร้อนกว่า หรือในช่วงที่มี Heat Wave จนร่างการปรับตัวไม่ทันก็ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ง่ายขึ้น

อากาศร้อนต้องระวังโรคลมแดด

อาการโรคลมแดด

ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดจะมีอุณหภูมิร่างกาย (Core Body Temperature) 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ร่วมกับภาวะความรู้สติเปลี่ยนแปลง โดยอาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ และชักหรือหมดสติได้ ร่วมกับภาวะหัวใจเต้นเร็ว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแดงและร้อนแต่แห้ง ยกเว้นผู้ป่วย Exertional Heatstroke มีบางรายที่ผิวหนังจะชื้นเล็กน้อยได้


ตรวจวินิจฉัยโรคลมแดด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคลมแดดได้จากการทราบประวัติว่าผู้ป่วยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะนี้โดยเฉพาะการสัมผัสกับความร้อน (Heat Exposure) และการตรวจร่างกายพบอุณหภูมิกายสูงร่วมกับอาการแสดงในระบบต่าง ๆ และในบางกรณีอาจร่วมกับผลตรวจเลือดและเอกซเรย์เพื่อค้นหาภาวะแทรกซ้อนของโรคลมแดด หากพบผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่ามีภาวะฮีทสโตรกควรรีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง

ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคและความผิดปกติทางระบบประสาทอยู่เดิม เมื่อต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเป็นเวลานาน หรือมีภาวะที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากอาจทำให้อาการทางระบบประสาทที่เคยมีกลับเป็นซ้ำได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมอง Multiple Sclerosis หรือโรคลมชัก ซึ่งกลไกที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นจะแตกต่างกันในแต่ละโรค


รักษาโรคลมแดด

การรักษาเบื้องต้น (First – Aid and Management) สามารถทำได้ด้วยการลดอุณหภูมิกาย โดยพาผู้ป่วยเข้ามาในร่มหรือในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและมีอุณหภูมิที่เย็น ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นเกินไป และอาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ ใช้สเปรย์น้ำเย็นพ่นหรือฝักบัว หรือนำผู้ป่วยลงแช่ในอ่างอาบน้ำเย็นในระหว่างที่รอรถพยาบาล ที่สำคัญคือห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากเครื่องดื่มจำพวกนี้จะทำให้ความสามารถในการปรับอุณหภูมิของร่างกายสูญเสียไป และน้ำเย็นจะทำให้เกิดการหดเกร็งของกระเพาะอาหารได้


ภาวะแทรกซ้อนโรคลมแดด 

โรคลมแดดทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะสำคัญต่าง ๆ และในบางกรณีถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

  • สมอง : ทำให้เกิดการชัก สมองบวม และอาจทำให้เกิดการเสียหายถาวรของเซลล์สมอง
  • กล้ามเนื้อ : อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis)
  • ไต : ภาวะกล้ามเนื้อสลายอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
  • ตับ : การสูญเสียสารน้ำ ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงตับลดลง อาจทำให้เกิดภาวะตับวาย
  • หัวใจ : การทำงานที่หนักขึ้นของหัวใจ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ปอด : อาจทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางระบบการหายใจ (Acute Respiratory Distress Syndrome)
  • เลือด : อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายหรือเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย

ป้องกันโรคลมแดด 

โรคลมแดดสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • สวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง ระบายลมได้ง่าย หากรู้ว่าต้องไปอยู่ในที่อากาศร้อนหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  • ป้องกันตัวเองจากแสงแดดด้วยเครื่องแต่งกาย เช่น แว่นกันแดดหรือหมวก และการใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • ระวังเรื่องยาและปรึกษาแพทย์ว่ายาที่ใช้อยู่มีผลต่อการปรับอุณหภูมิของร่างกายหรือไม่
  • พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในที่อาการร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก ในกรณีที่จำเป็น ให้ใช้เวลาในบริเวณดังกล่าวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้