เลือดออกในสมองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะเมื่อเลือดออกกระจายในเนื้อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจนและเสียหายรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้
เลือดออกในสมองคืออะไร
เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage: ICH): เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเลือดออกในเนื้อสมองโดยตรง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายและเกิดความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ภาวะนี้เป็นอันตรายถึงชีวิตและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุเลือดออกในสมอง
เลือดออกในสมองมักเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง สาเหตุหลัก ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากความดันโลหิตสูงทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมและแตกได้ง่าย
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์หรือหกล้ม ฯลฯ
- ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm) ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอและแตกได้
- การใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น วาร์ฟาริน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเลือดออก
- โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น Arteriovenous Malformation (AVM)
- โรคตับหรือภาวะเลือดออกง่าย ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด
อาการเลือดออกในสมองเป็นอย่างไร
- ปวดหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นฉับพลัน
- อ่อนแรงหรือชาที่ใบหน้า แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง
- พูดลำบากหรือพูดไม่ชัด
- การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็น ฯลฯ
- สูญเสียการทรงตัวหรือเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- หมดสติหรือชัก
ตรวจวินิจฉัยเลือดออกในสมอง
แพทย์จะใช้วิธีการตรวจหลายอย่างเพื่อวินิจฉัยเลือดออกในสมอง เช่น
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan – CTA) เพื่อหาตำแหน่งและขนาดของเลือดที่ออก
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan – MRA) เพื่อดูรายละเอียดของสมองและหลอดเลือด
- การตรวจหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography) เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือด
รักษาเลือดออกในสมองอย่างไร
การรักษาเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเลือดที่ออก รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ วิธีการรักษาหลัก ได้แก่
- การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ออกซิเจนและการควบคุมความดันโลหิต ฯลฯ
- การใช้ยา เพื่อลดอาการบวมในสมองหรือควบคุมอาการชัก
- การผ่าตัด ในกรณีที่เลือดออกมากหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้
- การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำในสมอง
- การผ่าตัดเพื่อเอาเลือดที่ออกในสมองออกจากสมอง
- การฟื้นฟูสมอง เช่น การทำกายภาพบำบัดหรือการพูดบำบัดหลังจากอาการดีแล้ว
ป้องกันเลือดออกในสมองอย่างไร
การป้องกันเลือดออกในสมองสามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดเสียหาย
- ระมัดระวังการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น สวมหมวกกันน็อกเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
เลือดออกในสมองเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การรู้จักอาการและปัจจัยเสี่ยงจะช่วยให้สามารถป้องกันและรับมือกับภาวะนี้ได้ทันท่วงที การดูแลสุขภาพโดยรวม เช่น ควบคุมความดันโลหิต หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้
แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาเลือดออกในสมอง
นพ.ยอดรัก ประเสริฐ ศัลยแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาเลือดออกในสมอง
โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา ฟื้นฟูและป้องกันภาวะเลือดออกในสมอง ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ
แพ็กเกจ Basic Brain Health Screening ราคาเริ่มต้นที่ 20,400 บาท