หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา

อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป ทั้งอาการปวดหลังเฉียบพัน อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน แต่นับว่ายังโชคดีที่กว่าร้อยละ 70 ของอาการปวดหลังในบุคคลทั่วไปสามารถทุเลาได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และมากกว่าร้อยละ 90 ที่สามารถทุเลาได้เองภายใน 4 – 6 สัปดาห์

     การอักเสบตึงเครียดบริเวณข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนหลังของร่างกาย มักจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง กิจกรรมการเคลื่อนไหวบางอย่างโดยเฉพาะการยกของหนักบ่อยๆ การก้ม และการบิดเอี้ยวตัว ก็สามารถทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้ อากัปกิริยาที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะบางอย่าง หรือปัญหาทางสุขภาพ เช่น การติดเชื้อที่บริเวณอื่น โรคภูมิแพ้บางชนิด โรคข้ออักเสบเรื้อรัง ความเครียดของจิตใจก็สามารถทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้เช่นกัน

ประเภทของโรคปวดหลัง

  • อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน 
    อาการปวดหลังที่แสดงอาการปวดหลังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า แต่ไม่ได้ปวดร้าวลงไปตามแนวขา เรียกว่า อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อเอวตึงเคล็ด หรือข้อต่อ เอ็นบริเวณรอบกระดูกสันหลังอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวด ทรมาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะอาการค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน หลังจากได้รับการรักษา

  • อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน 
    อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน เป็นอาการประเภทหนึ่งของโรคปวดหลัง ซึ่งจะแสดงอาการปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า และยังปวดร้าวลงไปยังบริเวณสะโพกและขาอีกด้วย อาการประเภทนี้อาจจะเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ระยะเวลาที่อาการจะทุเลาจะกินเวลานานกว่าอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน และการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทบริเวณหลังมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงกว่า 

  • อาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา แบบเรื้อรัง (ปวดหลังเรื้อรัง อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม)
    อาการปวดหลังและปวดร้าวลงขาที่กินระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ จัดเป็นอาการในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาทิเช่น กระดูกสันหลังตีบแคบเบียดเส้นประสาท การรักษาเฉพาะทางถือเป็นสิ่งจำเป็น แพทย์ประจำตัวท่านอาจจะแนะนำท่านไปยังแพทย์ผู้ที่ชำนาญเฉพาะทางด้านโรคที่เป็นต้นเหตุของปัญหาปวดหลังเรื้อรัง อาทิเช่น แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือศัลยแพทย์ระบบประสาท

สัญญาณเตือนปวดหลังเรื้อรัง 

ในบางสถานการณ์แพทย์อาจต้องทำการตรวจทางกายภาพเพื่อยืนยันถึงสาเหตุอาการปวดหลังที่ไม่ปกติ ท่านควรให้ความร่วมมือแก่แพทย์โดยการบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของอาการของโรคอยู่เสมอ อาจมีการนัดหมายเพื่อติดตามอาการภายใน 1 – 3 สัปดาห์หลังจากการตรวจครั้งแรกในรายที่แพทย์มีความเห็นว่าจำเป็นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมทางรังสี และหากท่านมีอาการดังนี้ต่อไปนี้โปรดรายงานให้แพทย์ทราบทันที

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • มีอาการปวดเฉพาะช่วงกลางคืนอย่างต่อเนื่อง 

  • มีไข้

  • ปัสสาวะลำบาก

  • ขาอ่อนแรง

  • ปวดร้าวลงขา

 

การวินิจฉัยอาการโรคปวดหลังเรื้อรัง

การเอกซเรย์ไม่ใช่ขั้นตอนที่จำเป็นที่ต้องทำเป็นอันดับแรกสำหรับการรักษา การเอกซเรย์จะจำเป็นสำหรับโรคที่มีแผลบาดเจ็บร่วมด้วย (เช่น อาการปวดร้าวลงขา การพลัดตก หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์) หรือในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี และผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพอยู่แล้ว แพทย์อาจจะสั่งให้มีการทำการเอกซเรย์หากพบว่าอาการปวดหลังเกิดขึ้นมานานเกินกว่า 6 สัปดาห์ การตรวจจำพวก CT หรือ MRI อาจจะใช้ในกรณีที่พบอาการปวดร้าวลงขาแบบเรื้อรังร่วมด้วย และแพทย์ต้องการเห็นรายละเอียดของความผิดปกติมากขึ้น

การรักษาปวดหลังเรื้อรัง

วิธีปฏิบัติง่ายๆดังต่อไปนี้อาจจะช่วยควบคุมอาการปวดได้ โปรดปรึกษาแพทย์หากท่านรู้สึกว่ายังได้รับการบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรัง ไม่เพียงพอ

การนอนพักให้หายจากปวดหลังเรื้อรัง

การนอนราบบนเตียงให้เพียงพอเป็นการลดปวดขั้นพื้นฐานที่ควรจะปฏิบัติในทุกราย อย่างไรก็ตาม การนอนพักบนเตียงนานๆ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดหลัง ในความเป็นจริงแล้วการนอนพักบนเตียงเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจจะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลัง และอาการปวดร้าวลงขา ดังนั้น หากปวดมาก การนอนพักในช่วงแรกจึงไม่ควรเกิน 2-3 วัน และหลังจากนั้นให้ปฏิบัติกิจกรรมเบาๆ ตามสมควรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

การประคบเย็น ประคบร้อน

น้ำแข็งหรือแผ่นประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการปวดและอาการบวมจากกล้ามเนื้อตึงเคล็ดได้ดี ควรใช้น้ำแข็ง หรือแผ่นประคบเย็นประคบทิ้งไว้ครั้งละประมาณ 20 นาที จำนวน 3 – 4 ครั้งต่อวันในช่วง 2-3 วันแรกเพื่อบรรเทาอาการปวด ท่านสามารถเลือกใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นก็ได้หากวิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากกว่า โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดร้าวลงขามักได้ผลดี

การรับประทานยาปวดหลังเรื้อรัง

ยาลดการอักเสบพื้นฐาน เช่น ไอบูโปรเฟน หรือแอสไพริน สามารถช่วยระงับอาการปวดและบวมบริเวณหลังได้ หากยาดังกล่าวออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพราะอาหาร ควรเปลี่ยนเป็น อะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) หรือยาอื่นที่มีฤทธิ์ระคายเคืองน้อยกว่าทดแทน แพทย์อาจจะจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อในช่วงระหว่าง 2 – 3 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการตึงของกล้ามเนื้อ แต่ยาคลายกล้ามเนื้ออาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน บางกรณีแพทย์อาจสั่งสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดร้าวลงขา อาจเป็นสเตียรอยด์ในรูปแบบของยารับประทานหรืออาจเป็นสเตียรอยด์ในรูปแบบฉีดได้เช่นกัน

อิริยาบถ การนอน และน้ำหนักตัว

การปรับเปลี่ยนอิริยบทต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยป้องกัน และลดอาการปวดหลังได้ อิริยาบทที่ถูกสุขลักษณะนั้นจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของน้ำหนักตัวอยู่ในแนวตั้งตรง และช่วยลดแรงกดทับไปสู่กล้ามเนื้อส่วนหลังได้ วิธีลดการกดทับไปยังกล้ามเนื้อส่วนหลังขณะนั่งนั้น ทำได้โดยการเลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิงซึ่งเหมาะสมกับแผ่นหลัง หรือจัดหาหมอนมาหนุนบริเวณหลังไว้ หรือเปลี่ยนอิริยาบทท่านั่งบ่อยๆก็สามารถช่วยได้

เวลานอน หากนอนท่าหงายควรใช้หมอนหนุนใต้หัวเข่า หากนอนท่าตะแคงการใช้หมอนรองระหว่างขาสองข้างก็เป็นอีกวิธีที่มีประโยชน์มาก ท่านอนดังกล่าวถือเป็นท่านอนที่สบายที่สุด การนอน ที่นอนควรจะแน่นพอสมควร ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำหรือเตียงสปริง เพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น ปวดหลังเพิ่มขึ้นได้

โรคอ้วน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพิ่มแรงกดทับให้แก่หลัง การลดน้ำหนักเพียงเล็กน้อยสามารถลดอาการและป้องกันการปวดหลังได้

การบริหารความเครียด

แรงกดดันจากครอบครัว การงาน การเงินสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ การบริหารความเครียดอย่างถูกวิธีในแต่ละวันนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ในทุกๆเรื่องที่สงสัย

การกลับคืนสู่กิจวัตรปกติ

การกลับไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวันบ้างซัก 2 – 3 วันหรือสั้นกว่านั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย การปรับเปลี่ยนภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ หรือจำกัดชั่วโมงในการทำงานอาจเป็นเรื่องจำเป็น ท่านอาจจะรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวไม่สะดวกบ้าง แต่การดำเนินกิจวัตรประจำวันนี้จะช่วยป้องกันหลังจากอาการอ่อนแรง และการปวดร้าวลงขา ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการก้ม และบิดเอี้ยวตัวซ้ำๆ

กายภาพบำบัดกับการลดอาการปวดหลัง

หากท่านประสบอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือหากท่านไม่สามารถกลับไปทำงาน ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ หรือมีอาการปวดหลังร้าวลงขาคล้ายการกดทับเส้นประสาท แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดกระดูกสันหลัง

กายภาพบำบัดกระดูกสันหลังเหล่านี้ช่วยฟื้นคืนสภาพความแข็งแรง และความสามารถในการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจกรรม ประกอบไปด้วยการบริหารท่าพิเศษ อุปกรณ์บรรเทาอาการปวดหลัง (อัลตราซาวนด์ ความร้อน ความเย็น) การสอนสุขศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานกระดูกและกล้ามเนื้อหลัง การฝังเข็มแบบจีน เป็นต้น โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือมีแนวโน้มอาจมีการกดทับเส้นประสาท มีความจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดอย่างยิ่ง

การรักษาแบบ Intervention

การรักษาแบบ Intervention เป็นการรักษาด้วยเทคนิคที่ใช้เข็ม หรือ Invasive Modality ต่างๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัด การรักษาแบบ intervention ที่นิยม อาทิเช่น การฉีดยาระงับการอักเสบที่ช่องเส้นประสาทเพื่อลดอาการปวดร้าวลงขาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท การลดอาการปวดหลังจากข้อฟาเซ็ต โดยการทำ RF Rhizotomy เป็นต้น

โดยเฉลี่ยแล้วประสิทธิภาพของการรักษาแบบ Intervention มักได้ผลเฉลี่ย 70-75% และบางครั้งเป็นการช่วยในการวินิจฉัยที่ดีก่อนการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จสูงขึ้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด มักเป็นการรักษาที่ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังเลือกใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน อาทิเช่น มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือมีการกดทับเส้นประสาทจนเกิดการทำงานของเส้นประสาทผิดปกติ อ่อนแรง เดินไกลไม่ได้ เป็นต้น

การผ่าตัดที่นิยม อาทิเช่น การผ่าตัดขยายช่องทางออกของเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง หรือการทำ Decompressive Laminectomy การผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่แตกเคลื่อนทับเส้นประสาทออกด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือการทำ Microscopic Discectomy เป็นต้น โดยทั่วไปการผ่าตัดหากการเลือกผู้ป่วยทำได้ถูกต้องโอกาสประสบความสำเร็จมีสูงมากกว่าร้อยละ 90

การออกกำลังกาย

เพื่อช่วยให้การฟื้นฟูร่างกาย และฟื้นฟูอาการปวดหลัง และ ฟื้นฟูอาการปวดร้าวลงขาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันโรคอันเกี่ยวข้องกับปวดหลัง และปวดร้าวลงขา ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงควรหมั่นดูแลร่างกาย หลัง กล้ามเนื้อหน้าท้อง และขา ให้อยู่ในสภาพดีแข็งแรงอยู่เสมอ พยายามลุกเดินทุกวันเมื่อท่านสามารถเดินได้ และค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมที่สามารถช่วยพัฒนาหลังให้แข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน

เริ่มออกกายบริหารหลังตามคำแนะนำที่บ้าน หรือภายใต้การดูแลของนักกายภาพ กายบริหารนี้ควรเริ่มปฏิบัติทันทีเมื่อท่านสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด หลีกเลี่ยงท่ากายบริหารที่ส่งผลให้อาการปวดของท่านแย่ลง

กายบริหารประมาณครั้งละ 10 – 30 นาที วันละ 1 – 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างการฟื้นตัว ดังภาพประกอบด้านล่าง ท่ากายบริหารนี้จะอธิบายถึงวิธีปฏิบัติ และขั้นตอนต่างๆ ซึ่งควรปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพ หรือแพทย์

Step ①
ท่าเริ่มต้นคือนอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นและวางแขนทั้งสองข้าง ข้างลำตัว จังหวะที่ 1 เกร็งกล้ามเนื้อที่ท้องเพื่อกดหลังให้แนบกับพื้นนับ 1-5 ช้าๆ จังหวะที่ 2 คลายกล้ามเนื้อปล่อยพักตามสบายทำ 5-6 ครั้งในวันแรกแล้วเพิ่มขึ้นในวันถัดไป

Step ②
นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับเข่าของขาข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อ ค่อยๆดึงเข่าเข้าหาลำตัวช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย ดึงค้างไว้นับ 1-5 คลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 5 ครั้งของเข่าแต่ละข้าง
ข้อควรระวัง หากรู้สึกตึงที่หัวไหล่มาก ควรจะย่อคอ ยกหัวไหล่และหลังขึ้นจากพื้นเล็กน้อย และไม่จำเป็นที่จะต้องดึงหัวเข่ามาให้ชิดหน้าอกของท่าน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องให้กล้ามเนื้อยืดและรู้สึกตึงบริเวณสะโพก

Step ③
นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับเข่าของขาทั้งสองข้าง ค่อยๆดึงเข่าเข้าหาลำตัวช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย โดยให้เอวและสะโพกไม่ลอยขึ้นจากพื้น ดึงค้างไว้นับ 1-10 คลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 5 ครั้ง

Step ④
นอนหงายเหยียดขาทั้งสองข้างตรง ขยับข้อเท้าทั้งสองข้างขึ้นลง กดส้นเท้ากับพื้นและเหยียดปลายเท้าขึ้นหลังจนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย จากนั้นค่อยคลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 10 ครั้ง

เวชปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนปวดหลังเรื้อรัง และเวลา

การเข้าใจถึงปัญหาของปวดหลังเรื้อรัง และ อาการปวดร้าวลงขา ว่าจะมีวิธีดูแลอย่างไร และความคาดหวังของผู้ป่วยหากการรักษาไม่ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ท่านจะได้รับการดูแลรักษาเรื่องโรคปวดหลังที่สอดคล้องกับลักษณะอาการ และความต้องการ
แผนภูมิด้านล่างแสดงถึงขั้นตอนการรักษาโรคปวดหลังแบบภาพรวมทั่วไป ขั้นตอนการรักษาอาการของท่านอาจจะดำเนินไปตามขั้นตอนนี้ หรือแพทย์ของท่านอาจจะแนะนำแผนการรักษาแบบอื่น