การใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงของอาการปวด ได้แก่
1) Migraine Cocktail
ประกอบด้วยยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ 3 ชนิด ได้แก่ ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยากันชัก และยาฉีดสเตียรอยด์ ใช้ระงับอาการปวดศีรษะชนิดรุนแรง ก่อนได้รับยาผู้ป่วยหรือญาติควรแจ้งประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยากับแพทย์ และหลังได้รับยาผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึม ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักรกล
2) Occipital Nerve Block
การใช้ยาเฉพาะที่และยาฉีดสเตียรอยด์ชนิดแขวนตะกอน เพื่อยับยั้งอาการปวด ผู้เข้ารับการทำหัตถการควรแจ้งประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยากับแพทย์ อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจจะเกิดขึ้นหลังทำหัตถการ ได้แก่ อาการปวดแสบบริเวณที่ฉีดยา คลื่นไส้ อาเจียน การติดเชื้อ เป็นต้น
3) ยาระงับอาการปวดศีรษะชนิดรับประทาน
- ยา Paracetamol เหมาะสำหรับอาการปวดศีรษะเล็กน้อย ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีปัญหาการทำงานของตับผิดปกติและไม่ควรรับประทานยานี้มากกว่า 3 กรัมต่อวัน (เทียบเท่าขนาดยา 500 มิลลิกรัม จำนวน 6 เม็ด) และใช้ติดต่อกันไม่เกิน 5 – 7 วัน
- ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เหมาะสำหรับลดอาการปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การทำงานของไตผิดปกติ มีประวัติเป็นแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Ibuprofen, Mefenamic acid, Naproxen เป็นต้น
- ยาแก้ปวดในกลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น ใช้สำหรับระงับอาการปวดศีรษะปานกลางถึงรุนแรง การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด และระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยมีประวัติลมชัก มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ มีประวัติเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากยากลุ่มนี้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ง่วงซึม มึนศีรษะ กดการหายใจ เป็นต้น
- ยาแก้ปวดสูตรผสมของ Ergotamine และ Caffeine ใช้สำหรับระงับอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน ไม่ควรรับประทานยามากกว่า 6 เม็ดต่อวันหรือ 10 เม็ดต่อสัปดาห์ ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการชา ร้อน ไร้ความรู้สึกที่มือหรือเท้าควรรีบกลับมาพบแพทย์ในทันที
- ยาแก้ปวดกลุ่ม Triptan ใช้สำหรับระงับอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีการทำงานของตับผิดปกติ
ยาป้องกันอาการปวดศีรษะ
- OnabotulinumtoxinA เป็นการฉีดสาร botulinum toxin type A ที่สกัดจากเชื้อ Clostridium botulinum เพื่อระงับการส่งสัญญาณประสาทที่ทำให้ปวดศีรษะ โดยฉีดให้กับผู้ป่วยครั้งละ 31 จุด ทุก 3 เดือน อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากการใช้ยา ได้แก่ ปวดอักเสบบริเวณที่ฉีด กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง การติดเชื้อ เป็นต้น จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ยากันชัก ยากันชักบางตัวสามารถลดความถี่ในการเกิดอาการปวดศีรษะ ได้แก่ Valproate, Topiramate, Gabapentin ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น และควรระวังการใช้ยาในผู้ที่มีปัญหาการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ
- กลุ่มยาลดความดันโลหิต กลุ่มยาที่มีการศึกษาชัดเจน ได้แก่ ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta blockers) ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (Calcium channel blockers) และยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ ACE (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors) หรือยาในกลุ่มปิดกั้นตัวรับแองจิโอเทนซิน II (Angiotensin II Receptor Blockers) ซึ่งการเลือกใช้ยาตัวใดนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรืออาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่จำเพาะได้
- ยาต้านซึมเศร้า ยาต้านภาวะซึมเศร้าบางชนิดสามารถป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนได้ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ ง่วงซึม ปากแห้งคอแห้ง ท้องผูก เป็นต้น ผู้สูงอายุที่ได้รับยากลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- สารสกัดจากธรรมชาติเพื่อลดอาการปวดศีรษะ เช่น Butterbur Feverfew CoenzymeQ10 Magnesium VitaminB2 เป็นต้น อาจต้องพิจารณาขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษาและมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง