หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปวดศีรษะไมเกรนในผู้หญิง

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงจะพบความชุกของโรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headaches) มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า ในช่วงวัยเด็ก ผู้หญิงกับผู้ชายจะมีความชุกของอาการปวดศีรษะใกล้เคียงกัน แต่หลังจากเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระบบฮอร์โมนของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ผู้หญิงจะมีการผลิตฮอร์โมน “เอสโตรเจน” (Estrogen) จากรังไข่ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนนี้จึงมีระดับคงที่

ทำไมจึงเป็นไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือน

ในช่วงก่อนมีประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ก่อนมีประจำเดือน 1 – 3 วัน ระดับเอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว (estrogen withdrawal) ในผู้ที่สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ (จากพันธุกรรม) หรือผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่แล้วจะเกิดการกระตุ้น ทำให้ปวดศีรษะไมเกรนได้

ในช่วงก่อนหมดประจำเดือน (premenopausal) เป็นอีกช่วงอายุที่สามารถพบอาการปวดศีรษะไมเกรนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศได้มาก ระดับฮอร์โมนไม่คงที่ รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องร้อนวูบวาบในเวลากลางคืน ทำให้การนอนหลับไม่ดี เกิดการกระตุ้นให้ปวดศีรษะไมเกรนได้ง่าย

อาการปวดศีรษะไมเกรนช่วงมีประจำเดือน

อาการปวดศีรษะมักจะเกิดก่อนที่จะมีประจำเดือน 2 วัน จนถึงขณะที่มีประจำเดือนวันที่ 3 อาการปวดศีรษะมักจะเกิดรุนแรงมากกว่าและเป็นนานกว่าไมเกรนปกติ โดยพบอาการอื่นร่วมกับอาการปวดศีรษะ เช่น

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • มีความไวต่อ แสง – เสียง – กลิ่น เพิ่มมากขึ้น
  • ในผู้ป่วยบางรายตอบสนองไม่ดีต่อยารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน หรือมีการปวดศีรษะกลับเป็นซ้ำใหม่ได้มากกว่าปกติ

รักษาความปวด

การรักษาแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

  1. การรักษาช่วงที่มีอาการปวดเฉียบพลัน ให้การรักษาเหมือนกับไมเกรนทั่วไป เช่น ยาทริปแทน (triptans), ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น แต่อาจต้องใช้ยาในขนาดที่สูงกว่าปกติ หรืออาจจำเป็นต้องทานยาหลายชนิดควบคู่กัน รวมทั้งต้องให้การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม
  2. การรักษาแบบป้องกัน จะแนะนำในผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดแบบเฉียบพลัน สามารถให้ยาป้องกันได้ 2 ลักษณะ คือ ให้ระยะสั้นเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน และ ให้ระยะยาวทานติดต่อกันทุกวัน ยาในกลุ่มนี้ มีหลายชนิด เช่น ยาทริปแทน (triptans) ที่ออกฤทธิ์ยาว, ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาคุมกำเนิด (ชนิดทาน, เจล, แปะ) เป็นต้น ซึ่งยาแต่ละชนิดจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคน

คุณผู้หญิงควรรู้ว่า ช่วงที่มีประจำเดือนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไมเกรนได้ถึง 2 เท่า สิ่งที่ต้องระวังคือ ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraine with aura) เนื่องจากยาคุมกำเนิดสามารถเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดสมองตีบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดดำอุดตันอีกด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยไมเกรนชนิดมีอาการเตือนหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางโรคหลอดเลือดควรต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมและวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงจากแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิด