เมื่อพูดถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลังคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องเป็นผู้สูงวัย แต่ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงานยันผู้สูงวัยสามารถผ่าตัดแผลเล็ก รักษาได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางกระดูกสันหลังและโครงสร้างมาตั้งแต่กำเนิด การบาดเจ็บจากกิจกรรมแอดเวนเจอร์ การเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม หรืออุบัติเหตุจราจรต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเนื้องอก ในระบบสันหลังและประสาท และโรคความเสื่อมของกระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลัง
ผ่าตัดกระดูกสันหลัง
แนวทางการรักษาเบื้องต้น คือ การรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด ฝังเข็ม แนวทางการผ่าตัดเป็นวิธีที่สงวนไว้สำหรับกรณีที่มีข้อบ่งชี้จึงจะผ่าตัดด้วยวิธีที่เหมาะสมกับคนไข้ เพราะวัตถุประสงค์ของการผ่าตัด คือ เพื่อลดการกดต่อระบบประสาท ทำให้กระดูกสันหลังที่หลวมหรือโยกก่อให้เกิดการกดทับเส้นประสาทแน่นขึ้น ด้วยวิธีการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ที่ช่วยลดการทำลายกล้ามเนื้อของผู้ป่วย ซึ่งมีข้อดีคือ ทำลายหรือรบกวนกล้ามเนื้อน้อย ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วหลังผ่าตัด
การผ่าตัดแผลเล็กอาศัยเทคโนโลยีการผ่าตัดสมัยใหม่โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์, กล้อง Endoscope, การผ่าตัดผ่านท่อเล็ก ๆ รวมทั้งวิธีการเข้าถึงกระดูกสันหลังแบบต่าง ๆ เช่น เข้าด้านหน้า ด้านข้าง การผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี ตลอดจนการใส่อุปกรณ์โลหะยึดกระดูกสันหลังโดยไม่เปิดแผล เป็นต้น
การผ่าตัดแผลเล็ก ทำให้เสียเลือดน้อย มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ทำให้คนไข้ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเร็วขึ้น การผ่าตัดแผลเล็กนอกจากจะไม่ทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลังปกติแล้ว ยังเน้นเรื่องการรักษาความเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด แทนที่จะไปผ่าตัดยึดกระดูกเหมือนสมัยก่อนจนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ ผิดธรรมชาติที่ควรจะเป็น
ปัญหากระดูกสันหลัง
ปัจจุบันกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย สามารถเกิดกับเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ไปจนถึงผู้สูงวัย ยกตัวอย่าง ความผิดปกติทางกระดูกสันหลังและโครงสร้างแต่กำเนิดของเด็ก สมัยก่อนไม่สามารถทำผ่าตัดเล็กได้ต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อใช้อุปกรณ์เข้าไปยึดกระดูกสันหลังดัดให้ตรง แต่ปัจจุบันสามารถทำผ่าตัดแบบแผลเล็กได้ รวมถึงหากเกิดอุบัติเหตุรถชน กระแทกจนเกิดการกดทับเส้น กระดูกสันหลังแตกยุบหรือกรณีมีการกดทับรากประสาทเกิดอาการปวดเรื้อรัง จนกระทั่งไม่มีแรง สามารถผ่าตัดแผลเล็กได้เช่นกัน
คนที่อายุน้อยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหากระดูกสันหลังจากอุบัติเหตุ ขับรถชนกระแทกที่มีผลต่อกระดูกสันหลังถึงขั้นแตกหรือเคลื่อน หรือการเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ขี่มอเตอร์ไซค์หรือจักรยานโลดโผน รักบี้ ฟุตบอล บาส อเมริกันฟุตบอล ขี่ม้า เจ็ตสกี กระโดดบันจี้จัมพ์ หรือแม้แต่การนั่งเรือสปีดโบ๊ต ทำให้กระดูกสันหลังได้รับแรงกระแทก รวมถึงการเล่นอุปกรณ์ในสวนสนุกต่าง ๆ เช่น รถไฟเหาะ หรือพาวเวอร์ชอต ซึ่งอาจมีแรงบิดและแรงกระแทกที่มีผลต่อกระดูกสันหลัง เพราะเสมือนคนตกจากที่สูงจึงอันตรายกับกระดูกสันหลัง แม้จะอายุน้อยกระดูกก็สามารถยุบตัวได้เมื่อถูกกระแทกในแนวดิ่ง ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยจะมีปัญหากระดูกสันหลังที่เกิดจากความเสื่อมเป็นหลัก
ภาวะเนื้องอกกดทับ
นอกจากนี้ยังรวมถึงภาวะเนื้องอกกดทับ แม้ไม่ใช่คนไข้กลุ่มใหญ่ แต่เมื่อพบต้องผ่าตัดเพื่อวางแผนการรักษา เนื้องอกมี 2 แบบ คือ เนื้อร้ายกับเนื้อดี หากเป็นเนื้อดีที่ไม่ใช่กลุ่มมะเร็ง การผ่าตัดเป็นวิธีที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดได้ ส่วนคนไข้ที่มีเนื้องอกไม่ดีหรือเป็นมะเร็ง การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากอยู่ในระยะแรกสามารถผ่าตัดเพื่อรักษาได้ แต่ตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังโดยมากเนื้อร้ายจะไม่ได้เกิดที่กระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่เกิดที่อื่นแล้วมากัดกร่อนกระดูกสันหลังถือว่าเป็นระยะสุดท้าย ดังนั้นเหตุผลในการผ่าตัด คือ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตที่เหลือของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น ปวดน้อยลง เคลื่อนไหวได้ หรือกรณีที่ขาไม่มีแรงกลั้นปัสสาวะไม่ได้
การผ่าตัดในกรณีนี้ถือเป็นวิธีพื้นฐานก่อนรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพราะต้องการผลการตรวจทางพยาธิก่อนว่าเป็นชิ้นเนื้ออะไร อยู่ในระยะไหน เพื่อพิจารณาถึงวิธีการรักษาต่อไปว่าจะเลือกแผนการรักษาแบบไหน รังสี ยา ฯลฯ จึงต้องผ่าตัดก่อน เพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อไปตรวจ
อย่างไรก็ตามสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรผ่าตัด คือ เพื่อลดการกดระบบประสาท เพื่อซ่อมแซมกระดูกสันหลังที่ไม่แน่นเหมือนปกติ หรือมีความผิดปกติคดโก่งของกระดูกสันหลังต้องแก้ไข หรือผ่าตัดเนื้องอก รวมทั้งการรักษาโรคติดเชื้อ เพราะการใช้ยาอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น การคั่งของหนองเพื่อนำมาเพาะเชื้อหายารักษาที่เหมาะสม รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ
สัญญาณเตือนต้องพบแพทย์
- ปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท เช่น ปวดคอร้าวไปไหล่ แขน หรือปวดร้าวลงไปที่ขา สะโพก
- มีการอ่อนกำลังของกล้ามเนื้อ มือแขนไหล่ ขา เข่า ข้อเท้า
- น้ำหนักลด มีไข้
- เลือดออกผิดปกติตามที่ต่าง ๆ ต้องเฝ้าระวัง เช่น ไอเป็นเลือด ปวดหลัง ระบบขับถ่ายผิดปกติอาจมีผลจากการกดทับประสาทไขสันหลังได้ หรือการปวดหลังร่วมกับการคลำพบก้อนในช่องท้อง
ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก MIS Spine
การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก MIS Spine ทำได้ทุกโรคที่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัด ซึ่งระยะเวลาผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่กับการผ่าตัดแบบแผลเล็กไม่ต่างกัน แต่การผ่าตัดแผลเล็กจะได้เปรียบในด้านการซ่อมแซมแผล การเปิดการปิดบาดแผลจะใช้เวลาน้อยกว่ามาก แต่ต้องใช้ความประณีตในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆในกรณีที่มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น คนไข้จะฟื้นสภาพได้เร็ว ในทางกลับกันหากคนไข้ซึ่งปล่อยให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทนานไปโอกาสที่กล้ามเนื้อลีบเล็กลง หลังผ่าตัดอาจใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้น การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาอยู่สภาพเดิมใช้เวลามากขึ้น ฉะนั้นระยะเวลาที่จะมีผลขึ้นอยู่ว่าจะกดทับเส้นประสาทมากน้อยแค่ไหน ยิ่งถ้าทับเส้นประสาทมากการผ่าตัดอาจช่วยแก้ไขได้ ดังนั้นหากกล้ามเนื้ออ่อนแรงควรรีบมาพบแพทย์ดีกว่าปล่อยให้นานเกินแก้