หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
รู้ไว้ใช่ว่ากับโรคเอ็มเอสหรือ Multiple Sclerosis

โรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเอ็มเอส แต่เชื่อว่าโรคนี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะเกิดอาการขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 20 – 30 ปี ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจากการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยเอ็มเอสได้รับผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งนี้พบว่าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเอ็มเอสจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20 – 25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า รวมไปถึงมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมหากพบมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นประมาณ 2 – 4% ปัจจุบันประมาณการว่ามีประชากรโลกที่ป่วยเป็นโรคเอ็มเอสสูงอยู่ถึง 2.5 ล้านคน โดยโรคเอ็มเอสมีอุบัติการณ์สูงในประชากรชาวตะวันตก แต่มีอุบัติการณ์ต่ำในประชากรชาวเอเชีย แอฟริกา และชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา

ลักษณะเฉพาะของโรคเอ็มเอส

โรคเอ็มเอสเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองทำลายปลอกเยื่อหุ้มประสาท (Myelin) ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายปลอกเยื่อหุ้มประสาทจะทำให้การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทช้าลงหรือขัดขวางการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท เป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทในโรคเอ็มเอส

โดยมักจะพบอาการผิดปกติของระบบประสาทเกิดขึ้นแบบเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง จากนั้นเกิดการซ่อมแซมตัวเองอาการจึงดีขึ้นได้ อาการผิดปกติเหล่านี้เรียกว่า การกำเริบหรือการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งอาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคมีได้หลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่ทำให้เกิดกำเริบ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน แขนหรือขาอ่อนแรง ปวดเกร็ง ขากระตุก ปัสสาวะไม่ออก
  • อาการชาแน่น ๆ รัดรอบอก หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง ปวดร้าวเหมือนไฟช็อตที่คอลงมาถึงกลางหลัง
  • ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลันข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เห็นภาพซ้อน เห็นสีผิดเพี้ยนไปหรือสีจางลง
  • ปัญหาเรื่องการทรงตัว ทรงตัวลำบาก มีลักษณะเฉพาะคือ มักเป็นและดีขึ้นเอง จากนั้นจะมีอาการกำเริบซ้ำในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่

ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองและอย่ารอช้าที่จะพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคเอ็มเอส


การวินิจฉัยโรค

หากสังเกตอาการและพบแพทย์ทางระบบประสาทร่วมกับการตรวจ MRI สมองและไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจเลือดและน้ำไขสันหลังได้ตั้งแต่ในระยะแรกและได้รับการดูแลที่ถูกต้อง สามารถลดภาวะทุพพลภาพและป้องกันการเกิดอาการกำเริบและภาวะสมองเสื่อมถอยในอนาคตได้

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเอ็มเอสให้หายขาด แต่สามารถชะลอการเกิดความพิการหรือลดจำนวนครั้งของอาการกำเริบได้ด้วยยาสเตียรอยด์ ทั้งชนิดที่ให้ทางหลอดเลือดและยารับประทาน และการป้องกันภาวะโรคกำเริบด้วยยาปรับภูมิคุ้มกันเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรค รวมถึงการรักษาตามอาการที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและป้องกันภาวะทุพพลภาพได้เป็นอย่างดีกว่าการรักษาในอดีต

ด้วยโรคเอ็มเอสนั้นเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัย (Multifactorial Etiology)  ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ลด ละ เลิกสุราและบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด

รวมทั้งเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที จึงน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายแรงอื่น ๆ อีกด้วย

Ref.
  • WEJM 2018, Reicheful