หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับอาการปวดสะโพก

อาการปวดสะโพกสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุและทุกระดับกิจกรรม มีความเชื่อผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับสาเหตุและการวินิจฉัย ซึ่งอาจนำไปสู่การรักษาระยะยาวที่ไม่เหมาะสม จึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

1) ความเชื่อ: ถ้ามีอาการปวดสะโพกด้านในลึก เวลาขยับหรือออกกำลังกายมักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อสะโพก

ความจริง: โครงสร้างของสะโพกนั้นซับซ้อนและมีสาเหตุของอาการปวดมากมาย ตำแหน่งที่ปวดบริเวณสะโพกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการระบุสาเหตุ เพระอาการปวดอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณก้นด้านหลัง ด้านข้าง ปุ่มกระดูก หรือด้านหน้าบริเวณขาหนีบ ซึ่งบ่งบอกถึงปัญหาต่าง ๆ ของสะโพก อาการปวดหรือการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ที่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ถุงน้ำ (Bursa) หรือในตัวข้อสะโพกเอง บางครั้งการอักเสบที่เกิดขึ้นในข้ออาจส่งผลถึงโครงสร้างข้างเคียง ดังนั้นการตรวจร่างกายที่ถูกต้องและชัดเจนเพื่อหาสาเหตุจึงมีผลอย่างมากต่อการรักษา


2) ความเชื่อ: หากได้ยินเสียงในสะโพกเวลาเปลี่ยนท่าทางหรือขยับ แสดงว่ากระดูกอ่อนที่อยู่ในข้อสะโพกเสียหาย

ความจริง: การได้ยินเสียงคลิกหรือเสียงคล้ายดีดนิ้วจากข้อสะโพกไม่ได้หมายความว่าเกิดความเสียหายในข้อเสมอไป โดยส่วนใหญ่เสียงที่ได้ยินมักเกิดจากภาวะที่เรียกว่า “Snapping Hip Syndrome” ซึ่งแบ่งเป็นแบบภายใน (Internal Snapping Hip) และภายนอก (External Snapping Hip):

  • Internal Snapping Hip: เกิดจากกล้ามเนื้อ Iliopsoas เคลื่อนตัวและเสียดสีกับหัวกระดูกสะโพกหรือปุ่มกระดูกของกระดูกเชิงกรานในขณะเคลื่อนไหว ทำให้เกิดเสียงและอาจมีปวดบางจังหวะการเดินได้
  • External Snapping Hip: เกิดจากกล้ามเนื้อด้านข้างของสะโพก เช่น กล้ามเนื้อ Iliotibial Band หรือ Gluteus Maximus เคลื่อนตัวเสียดสีกับปุ่มกระดูกคอสะโพก (Greater Trochanter) ทำให้เกิดเสียงและอาการอักเสบได้

ส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการกายภาพบำบัดที่เน้นกล้ามเนื้อที่ต้องการให้แข็งแรงขึ้นเพื่อให้ตำแหน่งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมลดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อและลดการอักเสบ

อย่างไรก็ตามสาเหตุของเสียงในสะโพกอาจเกิดจากพยาธิสภาพภายในข้อสะโพกเช่นการฉีกขาดของวงแหวนรองข้อสะโพก (Labrum Tear) หรือการเสียดสีของกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นการวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญในการกำหนดแนวทางการรักษา


3) ความเชื่อ: ในกรณีที่อายุยังไม่มากและเล่นกีฬาเป็นประจำแต่มีอาการปวดสะโพก ควรฝึกซ้อมมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการทำงานของข้อสะโพก

ความจริง: แม้ว่าการเล่นกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ จะมีประโยชน์ แต่การเพิ่มระดับการฝึกซ้อมโดยไม่เข้าใจสาเหตุของอาการปวดสะโพกที่แท้จริงอาจไม่ส่งผลดี ควรตรวจสอบว่าอาการปวดเกิดจากพยาธิสภาพบริเวณใด กระดูกอ่อนในข้อมีปัญหาหรือไม่ และมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อมากน้อยเพียงใด การเพิ่มระดับกิจกรรมหรือการฝึกซ้อมอาจทำให้การอักเสบแย่ลงและเกิดวงจรการอักเสบต่อเนื่อง จึงควรลดระดับการออกกำลังกาย แต่ยังรักษาความเคลื่อนไหวของข้อ มวลกล้ามเนื้อ และการทำงานของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เพื่อให้การอักเสบลดลงก่อน และได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม การทำเช่นนี้จะเป็นหลักสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ


ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับอาการปวดสะโพก

4) ความเชื่อ: การเสื่อมสภาพของข้อสะโพกเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น

ความจริง: จริง แล้ว โรคข้อสะโพกเสื่อมส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุทุติยภูมิ เป็นผลมาจากปัจจัยหรือโรคอื่นที่มีอยู่ก่อนหน้า (ต่างจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักเกิดจากสาเหตุปฐมภูมิ คือจากความเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของร่างกาย) สาเหตุของการเกิดข้อสะโพกเสื่อมที่พบได้แม้อายุยังไม่มาก ได้แก่

  • Hip Dysplasia ความผิดปกติของสะโพกทางกายวิภาคที่มีลักษณะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ลักษณะคือหัวกระดูกต้นขา (Femoral Head) มีเบ้าสะโพก (Acetabulum) มาครอบคลุมไม่เพียงพอ ทำให้แรงกระทำผ่านข้อสะโพกผิดปกติที่ขอบเบ้าสะโพก ส่งผลให้อาจเกิดการฉีกขาดของวงแหวนรองข้อสะโพก (Labrum) และอาจทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของข้อสะโพกเร็วกว่าปกติ
  • Osteonecrosis of the Hip ภาวะหัวสะโพกตายจากการขาดเลือด ทำให้กระดูกบริเวณหัวสะโพกไม่เรียบกลม ส่งผลให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกสึกหรอ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน การดื่มแอลกอฮอล์ โรคเลือดบางชนิด อุบัติเหตุบริเวณสะโพก และอื่น ๆ
  • Femoroacetabular Impingement (FAI) ภาวะที่ข้อสะโพกเกิดการขัดและเสียดสี เนื่องจากมีปุ่มกระดูกเกินบริเวณหัวกระดูกต้นขา (Cam Type) หรือเบ้าสะโพกที่คลุมมากเกินไป (Pincer Type) การชนหรือเสียดสีซ้ำ ๆ ระหว่างการเคลื่อนไหวสะโพกมีโอกาสทำลายกระดูกอ่อนและวงแหวนรองข้อสะโพก (Labrum)
  • สาเหตุอื่น เช่น Slipped Capital Femoral Epiphysis, Perthes Disease, Inflammatory Diseases หรือ Proximal Femoral Deficiencies ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างของสะโพก ทำให้มีโอกาสเกิดข้อสะโพกเสื่อม การตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญในการป้องกันการเสื่อมสภาพที่มากขึ้น

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับอาการปวดสะโพก

5) ความเชื่อ: เมื่อมีปัญหาในข้อสะโพก หากรักษาด้วยยาและกายภาพไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเสมอ

ความจริง: ความจำเป็นในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ระดับกิจกรรม ความรุนแรงของอาการ และพยาธิสภาพเฉพาะ ถึงแม้มีการสูญเสียกระดูกอ่อนอย่างรุนแรงหรือมีระดับความเสื่อมที่รุนแรงอาจมีทางเลือกการรักษาไม่มากนัก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Arthroplasty) ยังเป็นวิธีมาตรฐานที่ให้ผลการรักษาที่ดีมากและมีอายุการใช้งานของข้อเทียมที่ยาวนานมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในกรณีที่กระดูกอ่อนในข้อสะโพกยังอยู่ในสภาพดี หากผู้ป่วยรับประทานยาและทำกายภาพแล้วยังไม่ดีขึ้น มีการผ่าตัดแบบอื่นที่เป็นทางเลือกการรักษา ได้แก่

  • การส่องกล้องผ่าตัดข้อสะโพก (Hip Arthroscopy) มีขนาดแผลเล็ก ใช้เพื่อซ่อมวงแหวนรองข้อสะโพกที่ฉีกขาด หรือเอาปุ่มกระดูกหรือส่วนกระดูกที่เกินออกตามพยาธิสภาพ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนแนวข้อสะโพก (Osteotomy Procedure) เป็นการผ่าตัดที่ตัดกระดูกเพื่อปรับปรุงชีวกลศาสตร์ของข้อสะโพกให้ดีขึ้น ลดโอกาสเกิดภาวะสะโพกเสื่อม
  • การผ่าตัดยืดเส้นเอ็นที่ตึง (Surgical Release of Tight Structures) ในกรณีที่เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดอาการปวดสะโพก

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับอาการปวดสะโพก

การทราบสาเหตุของอาการปวดข้อสะโพกที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องเพื่อผลการรักษาที่ยั่งยืน หากมีอาการปวดสะโพกขณะเคลื่อนไหว ปวดตอนกลางคืน การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกจำกัดลง หรือมีสัญญาณการอักเสบ เช่น บวม แดง ร้อน หรือลามไปบริเวณอื่น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็ว


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาอาการปวดสะโพก

ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมให้การตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอาการปวดสะโพกแบบครบทุกมิติ โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการที่พร้อมให้คำปรึกษาและการรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อฟื้นฟูสะโพกให้แข็งแรง กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาอาการปวดสะโพก

นพ.ภานุวัฒน์ ศิลาวัชนาไนย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และเปลี่ยนสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล  โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจผ่าตัดสะโพกและข้อเข่า

แพ็กเกจผ่าตัดสะโพกและข้อเข่า ราคาเริ่มต้น 299,000 บาท

คลิกที่นี่