หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปวดคอ-ปวดหลัง อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป

อาการปวดคอ ปวดหลัง มักพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับคนวัยทำงาน ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ หรือนั่งผิดท่า หลายคนเข้าใจว่าเป็นอาการของออฟฟิศซินโดรม จึงละเลยคิดว่าสามารถหายได้เอง แต่กลับกลายเป็นอาการ “ปวดคอเรื้อรัง” หรือ “ปวดหลังเรื้อรัง” จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งการรักษาแบบ Pain Intervention อาจเปลี่ยนให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

พญ.พรพรรณ เฉลิมกิจพานิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระงับปวด ศูนย์โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า ออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่ไม่สมดุลหรือไม่เหมาะสม จนมีอาการปวดบริเวณคอ สะบัก หรือปวดหลัง เป็น ๆ หาย ๆ สาเหตุมักเริ่มต้นมาจากกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนใหญ่อาการปวดมักดีขึ้น ภายใน 1 เดือน เมื่อหยุดการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด รับประทานยา นวด ฝังเข็ม หรือทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับท่าทางระหว่างการทำงาน หรือเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นจะมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามมาจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง

 

สาเหตุปวดคอปวดหลังเรื้อรัง

ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง สาเหตุมักเกิดจากโรคกระดูกสันหลังร่วมกับกล้ามเนื้ออักเสบ เพราะกล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลังจะช่วยประคับประคองภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม จนบางครั้งไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปวดอย่างแท้จริง หากมีอาการปวดนานเกิน 1 เดือน ให้ตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุที่ปวดอาจไม่ได้มาจากกล้ามเนื้ออักเสบเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากโรคกระดูกสันหลังหรือสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

สัญญาณเตือนปวดคอปวดหลังเรื้อรัง

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนปวดคอปวดหลังเรื้อรังที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ

  • ปวดคอหรือปวดหลังเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
  • ชาอ่อนแรงที่มือหรือขาร่วมด้วย รักษาด้วยวิธีรับประทานยาหรือทำกายภาพแล้วไม่หายขาด
  • ปวดรุนแรงจนรบกวนการดำเนินชีวิต ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

 

ปวดคอ, ปวดหลัง, ผ่าตัด, โรคกระดูกสันหลัง

การตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เอ็มอาร์ไอ) และทำการชี้จุดที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของอาการปวด รวมทั้งการฉีดยาเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง และนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เพราะการรับประทานยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ

หายได้โดยไม่ต้องผ่า

คนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังมักเข้าใจผิดว่าอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดจึงหายปวด จึงไม่ยอมมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เริ่มมีอาการ เมื่อปล่อยให้อาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง จะทำให้ปวดเพิ่มขึ้น รวมทั้งบริเวณที่ปวดขยายกว้างขึ้น เริ่มปวดทั้งสองข้าง จนอาการปวดรบกวนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และการนอนหลับ จึงมาพบแพทย์ ทำให้การวินิจฉัยโรคและการรักษายากมากขึ้น ทั้งนี้การรักษาอาการปวดคอและปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเกิดจากจุดไหน เป็นตำแหน่งที่ผ่าตัดได้หรือไม่ หรือระยะการดำเนินโรครุนแรงถึงขั้นตอนที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่

 

ค้นหาสาเหตุแก้ปัญหาต้นเหตุ

สถาบันโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงเน้นการค้นหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาต้นเหตุ โดยใช้การรักษาแบบ Pain Intervention ที่มุ่งเน้นการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริงก่อนทำการรักษา เริ่มจากการค้นหาสาเหตุในจุดที่ปวดด้วยการฉีดยาชาไปยังจุดที่สงสัยเพื่อวินิจฉัยสาเหตุ หากฉีดแล้วคนไข้หายปวดแสดงว่าจุดนั้นเป็นตำแหน่งที่ทำให้ปวด จากนั้นแพทย์จะดูว่าตำแหน่งที่ปวดดังกล่าวนั้น สามารถแก้ไขด้วยการผ่าตัดได้หรือไม่ กรณีที่สามารถผ่าตัดเพื่อรักษาได้ แพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังจะประเมินซ้ำอีกครั้งว่าถึงเวลาที่จะผ่าตัดเมื่อไร

ทั้งนี้คนไข้ที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรังบางราย เป็นโรคทางกระดูกสันหลังที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้  เนื่องจากตำแหน่งที่ปวดไม่มีอวัยวะเทียมหรือข้อต่อเทียมที่เข้ามาทดแทน โดยการรักษาแบบ Pain Intervention นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุแล้วยังช่วยลดปวดและช่วยให้การทำกายภาพได้ดีขึ้น เนื่องจากอาการปวดลดลง โดยทั่วไปผลการฉีดยาเพื่อลดการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดได้นานประมาณ 3 – 4 เดือน นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบ Pain Intervention ด้วยวิธีการกระตุ้นหรือจี้ไฟฟ้าด้วยคลื่นวิทยุ จะช่วยลดอาการปวดได้นานขึ้นประมาณ 6 – 9เดือน ทั้งนี้ การรักษามุ่งเน้นให้คนไข้กลับไปทำงานได้โดยไม่ปวด ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

รักษาแบบ Pain Intervention

พญ.พรพรรณ กล่าวว่า Pain intervention คือ หัตถการทางการแพทย์ที่ฉีดยาชาไปยังเส้นประสาท ข้อต่อกระดูกสันหลัง หรือกล้ามเนื้อ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดและเพื่อลดอาการปวดสามารถทำได้ในคนทุกคนที่มีอาการปวดเรื้อรัง โดยทั่วไปจะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในฉีดยาสำหรับกระดูกสันหลังระดับคอ และเครื่องเอกซเรย์ช่วยในการฉีดยาสำหรับกระดูกสันหลังระดับเอว เพื่อให้การฉีดยามีประสิทธิภาพ แม่นยำ และปลอดภัย ใช้เวลาเฉลี่ยในการฉีดยาแต่ละจุดประมาณ 30 – 60 นาที ในห้องปลอดเชื้อ โดยไม่ต้องดมยาสลบ ซึ่งเข็มที่ใช้มีขนาดเล็กกว่าเข็มเจาะเลือด หลังจากฉีดยาจะพักฟื้นสังเกตอาการประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหรือกลับบ้านได้”

นอกจากนี้ พญ.พรพรรณ ยังกล่าวจากประสบการณ์พบว่า ประสิทธิภาพของการรักษาแบบ Intervention ช่วยลดปวดได้เฉลี่ย 70 – 80% กรณีที่สาเหตุของอาการปวดไม่สามารถผ่าตัดได้ รวมทั้งช่วยในการวินิจฉัยหาระดับของกระดูกสันหลังหรือระดับเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของอาการปวดก่อนการผ่าตัด เพื่อส่งผลให้มีการผ่าตัดเฉพาะจุดที่จำเป็น ความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัดลดลง เพิ่มอัตราการผ่าตัดให้ประสบความสำเร็จสูงขึ้น ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 30 – 40 ปีขึ้นไป วิธีการป้องกันอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมคือควรเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ด้วยการลุกยืน เดินไปเดินมา หรือยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยทุก ๆ ชั่วโมงที่นั่งเป็นระยะเวลานาน เพื่อยืดกล้ามเนื้อและลดแรงกดทับไปที่กระดูกสันหลัง   

อย่างไรก็ตาม ใครที่กำลังมีอาการปวดคอ ปวดหลังอยู่ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะหากปล่อยให้ปวดเรื้อรังไปนานเข้า อาจจะส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิต การพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้โดยเร็ว