ภาวะกระดูกหัก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุที่พบกันมาก ซึ่งวิธีการรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็กหรือการผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดินนับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
สาเหตุกระดูกหัก
- อุบัติเหตุ
- โรคกระดูกพรุน พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างกระดูกสันหลัง ดังนี้
- ปวดหลังเรื้อรัง
- เตี้ยลง
- หลังโกง
- ไหล่งุ้มกว่าปกติ
การผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน
การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Plate Osteosynthesis (MIPO) หรือการผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะกระดูกหัก ซึ่งมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
- ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือช่วยในการยึดตรึงกระดูก
- นำอุปกรณ์เฉพาะในการทำทางเพื่อสอดเหล็กแผ่นใต้ชั้นกล้ามเนื้อตามตำแหน่งที่หัก
- วางเหล็กแผ่นอยู่เหนือกระดูก
- เปิดแผลเล็ก ๆ เพื่อยึดกระดูกด้วยสกรูด้านบนและด้านล่างของตำแหน่งที่หัก
ข้อดีของการผ่าตัด
สำหรับข้อดีของการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก (MIPO) หรือผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน นอกจากแพทย์จะนำเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป (Fluoroscope) ทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ทันทีขณะผ่าตัดเข้ามาช่วยจัดแนวกระดูกและวางตำแหน่งของวัสดุยึดตรึงกระดูกได้ตรงตำแหน่งขณะผ่าตัดแล้ว ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ
- ไม่ต้องเปิดแผลยาว
- เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และระบบไหลเวียนเลือดบริเวณเยื่อหุ้มกระดูกบอบช้ำน้อยที่สุด
- ฟื้นตัวเร็ว
- กระดูกติดเร็ว
- แผลเล็กสวยงาม
- ลดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกติดช้า การติดเชื้อ
การรักษากระดูกหักจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของทีมแพทย์เฉพาะทางและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่มีโอกาสเสี่ยงกระดูกแตกหักง่ายกว่าวัยอื่น การใส่ใจทุกขั้นตอนการรักษาร่วมกับนำเทคนิคเชื่อมกระดูกแผลเล็กแบบรถไฟใต้ดินจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลับไปทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงเดิม