โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึง โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ
สาเหตุความเสื่อมของข้อเข่า
- ความเสื่อมแบบปฐมภูมิหรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่
- อายุ พบว่า อายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 60 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
- เพศ ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
- น้ำหนักตัวที่เกิน น้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเข่าเสื่อม พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1 – 1.5 กิโลกรัม ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
- การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เป็นต้น
- ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
- กรรมพันธุ์ โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลักฐานการถ่ายทอดทางพันธุกรรมน้อยกว่าที่ข้อนิ้วมือเสื่อม
- ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน เป็นต้น
อาการโรคข้อเข่าเสื่อม
- อาการระยะแรก เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัด โดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ
- อาการเมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวม ร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
เกณฑ์วินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
- มีอาการปวดเข่า
- ภาพรังสีแสดงกระดูกงอก
- มีข้อสนับสนุน 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
– อายุเกิน 50 ปี
– มีอาการฝืดแข็งในตอนเช้านานน้อยกว่า 30 นาที
– มีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหวเข่าจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ
วิธีถนอมข้อเข่าเทียม
ถึงแม้ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมแล้วก็ยังต้องดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเทียมให้ยาวนาน โดยปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อ ได้แก่
- นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา การบิดหมุนเข่าไม่ว่ากรณีใด ๆ
- ขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น
- การยกหรือแบกของหนัก ๆ
- การใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นเวลานาน ๆ ขณะนอน จะทำให้การไหลเวียนเลือดที่ใต้ข้อพับเข่าเป็นไปได้ไม่สะดวกและข้อเข่าอาจตึงยึดเอ็นที่หนาตัวขึ้น ตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก
- การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ได้แก่
- บริเวณบ้านควรจัดให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันการสะดุดล้มลง
- ถ้าจำเป็นต้องขึ้นลงบันไดควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได
- ส้วมเป็นแบบชักโครก
- ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่น มีราวจับ
- ควรจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายขณะอาบน้ำ
- หลีกเลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจลื่นล้มได้ง่าย