หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ข้อเข่าเสื่อม ไม่ได้เป็นเฉพาะคนสูงวัย

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการใช้งานข้อต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กระดูกอ่อน ผิวข้อสึกกร่อน ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดข้อขณะเคลื่อนไหว เข่าผิดรูปโก่งงอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันไม่เฉพาะคนแก่เท่านั้นที่เป็น คนกลางคนก็เป็นได้ ปัญหาสำคัญคือ เมื่อเป็นโรคแล้วส่งผลกระทบในเรื่องคุณภาพชีวิตมากขึ้น โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปเป็นข้อเข่าเสื่อมเพิ่มสูงขึ้น แม้อาจจะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เกิดขึ้นได้

ต้นเหตุข้อเข่าเสื่อม

สาเหตุที่เกิดข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

  • แรงที่กระทำกับข้อเยอะเกินปกติและเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มที่เป็นนักวิ่งมาราธอน จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมในอนาคตจะสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่าตัว
  • กลุ่มที่มีพยาธิสภาพในข้อเข่า เช่น มีอุบัติเหตุมาก่อน อาจจะมีกระดูกหักหรือมีผิวกระดูกที่บาดเจ็บมาก่อน อย่างนักฟุตบอลที่เอ็นฉีกขาด ทำให้พยาธิสภาพในเข่าเปลี่ยนแปลงไปไม่สมดุล เสียความมั่นคง
  • โรคประจำตัว เช่น ผู้ที่เป็นรูมาตอยด์ ข้ออักเสบอยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ข้อเสื่อม สึกได้เร็วขึ้น
  • อุบัติเหตุ ในกลุ่มคนอายุน้อยจะพบสาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ เกิดอุบัติเหตุมาก่อน กระดูกหัก ทำให้แนวแกนขาเปลี่ยนไป อาจเป็นกระดูกหน้าแข้ง กระดูกต้นขาหัก หรือกระดูกตรงเข่าหัก ทำให้การรับแรงเปลี่ยนไปเกิดเสื่อมสึกได้
  • โรคเลือดบางชนิดที่ไม่ค่อยพบในเมืองไทย เช่น เลือดข้นผิดปกติ
  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ในปริมาณมากจะทำให้กระดูกตายได้
  • น้ำหนักมาก เป็นอีกปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะค่า BMI หากเกิน 40 โอกาสที่เป็นจะเพิ่มสูงขึ้น น้ำหนักเกินมากอาจไม่เท่า BMI ที่เกิน 40

อาการเข่าเสื่อม

  • ปวดเข่าบ่อย ๆ
  • ปวดตอนนั่งยอง นั่งคุกเข่า พับเพียบ
  • ปวดตอนขึ้นลงบันได
  • รู้สึกปวดมาก อยู่ท่านั้นนาน ๆ ไม่ไหว อาจจะต้องปรึกษา
  • เข่าบวม เข่าอุ่น บวมร้อน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีการอักเสบตรงข้อเข่า ข้อเข่ามีปัญหา

ระยะเข่าเสื่อม

การแบ่งระยะสำหรับข้อเข่าเสื่อมจะใช้ภาพเอกซเรย์เป็นหลักในการบอก ซึ่งจะมีตั้งแต่ข้อเข่าปกติ ข้อเข่าเสื่อมระยะต้น หรือว่าเสื่อมเล็กน้อย เสื่อมปานกลาง แล้วก็รุนแรง ซึ่งต้องเข้าใจว่า การเอกซเรย์เป็นบอกระยะของอาการเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าควรต้องทำอย่างไร การวินิจฉัยหลัก ๆ ก็คือ การอ่านประวัติแล้วก็ตรวจร่างกาย การเอกซเรย์เหมือนเป็นการยืนยันว่าเป็นแน่นอนหรือไม่และบอกว่าเป็นระยะไหน ระยะต้น ระยะกลาง หรือว่ารุนแรงแล้ว


รักษาเข่าเสื่อม

การรักษาเข่าสื่อมถ้าเป็นระยะต้นหรือระยะกลาง การรักษาด้วยวิธีไม่ต้องผ่าตัดยังสามารถทำได้ ได้แก่

1. การใช้ยา ทำให้การปวดหายได้เร็วขึ้น กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นจะมีทั้งยากิน ยาฉีด

  • ยากิน เป็นยากลุ่มลดการอักเสบทั่วไปต้องดูว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรไหม เลือกยาให้เหมาะสม
  • ยาฉีดเข้าข้อเข่าหลัก ๆ ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ
    – สเตียรอยด์ การใช้ยาฉีดเฉพาะที่กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาลดอักเสบชนิดหนึ่ง เวลาฉีดตรงข้อเข่าจะลดการอักเสบเฉพาะที่ ไม่เหมือนสเตียรอยด์กินที่ไปทั้งตัว แต่ว่าการให้สเตียรอยด์ในคนไข้อายุน้อยมาก ๆ จะไม่นิยม เพราะมีรายงานว่า ถ้าใช้ฉีดบ่อย ผลึกสเตียรอยด์จะทำให้ข้อเข่าสึกเร็วขึ้นได้
    – น้ำไขข้อเทียม เวลาที่เข่าเริ่มเสื่อม น้ำหล่อลื่นที่ปกติเคยมีจะเปลี่ยนคุณสมบัติไป ความหนืดน้อยลง การฉีดน้ำข้อเทียมเข้าไปก็เหมือนใส่จารบีเพิ่มเข้าไปให้หล่อลื่นดีขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ทั้งนี้น้ำข้อเทียมยังใช้ได้ผลดีกับกลุ่มคนไข้ที่ยังเป็นไม่มาก เสื่อมระยะเริ่มต้นหรือปานกลางเท่านั้น พอเสื่อมมากขึ้นแล้วฉีดไปก็มักจะไม่ได้ประโยชน์

2. การไม่ใช้ยา คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว บางกรณีอาจจะแนะนำในเรื่องของการใช้ยาร่วมด้วย เช่น

  • บางคนชอบนั่งเตี้ย นั่งยอง พับเพียบ คุกเข่า ก็เปลี่ยนมานั่งเก้าอี้แทน
  • พยายามลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะช่วยลดแรงกระทำในข้อเข่า
  • ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง ช่วยรับน้ำหนักข้อเข่าให้ดีขึ้น กระชับขึ้น ใช้วิธีการ ไม่ใช้แรงกระแทก อาจนั่งแล้วก็ยกขาธรรมดาเป็นท่าพื้นฐาน นั่งเก้าอี้พิงหลังสบาย ๆ ยกขาขึ้นขนานกับพื้นแล้วค้างไว้ ใช้ข้อเข่าเป็นจุดหมุดสัก 10 วินาทีแล้วก็เอาลง จะยกคู่ทั้งสองข้างหรือสลับกันก็ได้ แต่ต้องทำอย่างน้อยวันละสัก 100 หรือ 200 ครั้ง ยิ่งทำได้เยอะก็จยิ่งได้ผลดีกลับมา
  • ออกกำลังกาย ไม่กระแทก เรียกว่า โลว์อิมแพ็ก เพื่อให้ได้ทั้งหัวใจ ปอด พัฒนาทั้งร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การเดินในน้ำ บางคนว่ายน้ำไม่เป็นก็ทำได้ เดิน วิ่ง ออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งน้ำเป็นตัวช่วยรับแรงกระแทกและมีผลช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ด้วย การออกกำลังกายในน้ำได้รับความนิยมในต่างประเทศมากในปัจจุบัน มีหลากหลายให้เลือก เต้นในน้ำก็มี
หากผู้ป่วยเป็นในระยะรุนแรงควรต้องพบแพทย์ เพราะบางคนเอกซเรย์แล้วเป็นเยอะ แต่อาการยังไม่เยอะก็อาจรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เพราะโรคนี้จะเป็นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง จึงเป็นการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องกับแพทย์เฉพาะทาง แต่ในคนหนุ่มสาวที่เกิดอุบัติเหตุไม่ไหวก็ต้องรักษา ไม่ว่าการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือผ่าตัดอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว เดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม หากคุณพ่อคุณแม่มีประวัติเป็นเข่าโก่ง นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองให้ดี ควบคุมน้ำหนักอย่าให้ BMI เกิน 20 เพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วน ออกกำลังกาย บริหารต้นขา แอโรบิก ว่ายน้ำ ทานปลาที่มีโอเมก้า 3 ผักบรอกโคลีจะช่วยเรื่องของข้อเข่าเสื่อมได้ดี ลดการอักเสบ นอกจากนี้ผลไม้กลุ่มเชอร์รี เบอร์รี ส้มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ พวกถั่ว ถั่วแดง พีนัท ถั่วเขียวจะได้ทั้งโปรตีนและกรดไขมันที่จำเป็น ช่วยเสริมข้อเข่า แคลเซียมสามารถทานได้ แต่ไม่เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม ช่วยเรื่องของกระดูกพรุน กระดูกส่วนอื่น ๆ มากกว่า