รู้จักกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหัก คือ การหักของส่วนต้นกระดูกต้นขาที่เชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกราน มักเกิดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นถึง 1 ใน 7 ของสตรีวัยนี้ อีกทั้งยังเกิดได้ทั้งเพศหญิงและชาย ปัจจุบันตัวเลขผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปีมีมากขึ้น และในอนาคตจะมีสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรวัยทำงานสูงขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ ซึ่งผู้สูงอายุหักจากล้ม อาจกระดูกสะโพกหักง่าย
ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2546 คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับองค์การสหประชาชาติ แต่มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2552 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เรื่องการศึกษาขนาดและแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุไทยตั้งแต่ปี 2503 พบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีเพียง 1.5 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 5.4 ของประชากรทั้งหมด แต่ขนาดของประชากรตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 7 เท่า คือ ประมาณ 7.6 ล้านคน ทำให้ปี 2552 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด การเพิ่มขนาดและสัดส่วนประชากรสูงอายุไทยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 14.9 ล้านคน คิดเป็น 2 เท่าของปี 2552 และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 17.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ
ผลกระทบจากกระดูกสะโพกหัก
แม้ว่าเทคโนโลยีการดูแลรักษาและการผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักจะทำให้กระดูกติดดี แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องทำกายภาพบำบัดระยะหนึ่ง มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ก่อนกระดูกหักเคยดูแลตัวเองได้ แต่กลับต้องมีญาติผู้ใกล้ชิดหรือผู้ช่วยคอยประกบดูแลตลอดเวลาหลังจากเกิดกระดูกสะโพกหักแล้ว ส่วนหนึ่งต้องไปอยู่ในสถานพักฟื้น และมีกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้าค้ำยันตลอดไป เป็นต้น ที่สำคัญคือ ผู้สูงวัยที่มีกระดูกสะโพกหักมีอัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยมีกระดูกหัก และยังพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกมากมายที่ทำให้เสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก
จากสถิติและข้อมูลทางการศึกษา พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหัก ดังนี้
- อายุ อัตราเสี่ยงมีมากขึ้นเมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี
- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
- พันธุกรรม การที่มีประวัติกระดูกหักของผู้สูงอายุในครอบครัว หรือผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกเล็ก หรือมีรูปร่างผอมบาง
- ภาวะโภชนาการ ผู้ที่ร่างกายขาดแคลเซียมจากการรับประทานน้อยหรือการดูดซึมไม่ดี
- ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่
- ภาวะบกพร่องของร่างกาย ร่างกายอ่อนแอ มีข้ออักเสบ ข้อเสื่อม การทรงตัวไม่ดี สายตาไม่ดี
- ภาวะบกพร่องทางสมอง เช่น โรคทางสมอง สมองฝ่อ หลงลืม
- การได้รับยาบางประเภท ยาบางชนิดทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการมึนงง หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมีที่ทำให้กระดูกพรุนกระดูกส่วนที่มีผลกระทบมาก และทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายนอกเหนือจากกระดูกสะโพกแล้ว ยังมีกระดูกสันหลังและกระดูกปลายแขนบริเวณข้อมือ
ทำไมกระดูกสะโพกถึงหัก
ความจริงกระดูกต้นขาส่วนต้นหรือที่เรียกว่ากระดูกสะโพกนั้นมีความแข็งแรงมาก แต่จากภาวะการเสื่อมตามวัย ภาวะโรคบางอย่าง การได้รับยาต่าง ๆ ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน และเกิดกระดูกหักได้ง่าย เนื่องจากกระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิต ประกอบด้วยโปรตีนและแคลเซียมซึ่งมีการปรับแต่งตัวเองได้และร่างกายนำแคลเซียมจากกระดูกไปใช้ตลอดเวลา นั่นคือมีการดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูกและมีการเก็บทดแทนเข้าไป ถ้าเกิดการไม่สมดุล ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่พอ จะทำให้กระดูกอ่อนแอลงหรือพรุนและเปราะหักง่าย โดยที่กระดูกจะเริ่มมีการเสียสมดุลเมื่ออายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน แม้ว่าการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในวัยนี้จะป้องกันหรือชะลอภาวะกระดูกพรุนได้ แต่การจะเสริมฮอร์โมนหรือไม่นั้นควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ประจำตัวก่อน
รู้จักกระดูกพรุน
กระดูกพรุน คือ ภาวะที่มวลกระดูกลดลงจนเกิดการโปร่งบาง เนื่องจากการเสียสมดุลของแคลเซียมในกระดูก กระดูกพรุนป็นภัยเงียบ เนื่องจากจะไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอกถึงกระดูกพรุนจนกว่าจะเกิดกระดูกหัก แม้ว่าจะไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระดูกพรุนได้
ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระดูกพรุน ได้แก่
- อายุมาก
- การดำเนินชีวิตแบบนั่งนอนเฉย ๆ
- ขาดการออกกำลังกาย
- ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ได้รับสารสเตียรอยด์หรือยารักษาต่อมไทรอยด์
- การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่
- กรรมพันธุ์
ดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน
แม้ว่าจะไม่สามารถหยุดภาวะกระดูกพรุนได้ แต่สามารถป้องกัน ให้การวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ได้ ถ้าใส่ใจและเริ่มรักษาเร็วจะช่วยชะลอหรือลดภาวะแทรกซ้อนได้ หากเกิดกระดูกหักแล้ววิธีการรักษามีทั้งการผ่าตัดและการดูแลรักษาหลังการผ่าตัดแบบองค์รวมตามความก้าวหน้าในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพโดยเร็ว ป้องกันโรคแทรกซ้อน และป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำซากได้ ทั้งนี้สารอาหารบางอย่าง เช่น แคลเซียม วิตามินดี และการออกกำลังกายยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน
- แคลเซียม ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการอาจแตกต่างในแต่ละวัย และสภาวะร่างกาย ดังนี้
-
- อายุ 9 – 18 ปี เท่ากับ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
- อายุ 19 – 50 ปี เท่ากับ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เท่ากับ 1,000 – 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
- อายุมากกว่า 50 ปี เท่ากับ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมาก ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี นมและผลิตภัณฑ์ของนม ปลาซาร์ดีนพร้อมกระดูก ปลาตัวเล็ก ๆ พร้อมกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง งาดำ กะปิ เป็นต้น
- วิตามินดี มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 200 – 600 หน่วย ซึ่งในนม 1 แก้ว จะมีวิตามินดี 100 หน่วย และมีแคลเซียม 300 มิลลิกรัม หากคิดว่าได้แคลเซียมและวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอก็ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรรมเรื่องอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือวิตามินรวม เป็นต้น
ยารักษาโรคกระดูกพรุน
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละราย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ได้ยาที่เหมาะกับแต่ละคน ทั้งนี้ต้องลด ละ เลิกการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ระวังป้องกันการหกล้ม เนื่องจากการทรงตัวไม่ดี หรือขาดการออกกำลังกาย หรืออาการมึนงงวิงเวียนจากผลข้างเคียงของยา
ออกกำลังป้องกันสูญเสียมวลกระดูก
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในทุกเพศทุกวัยสามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และมีส่วนช่วยในการรักษาโรคกระดูกพรุน เพราะผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอก่อนอายุ 30 ปีจะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงและมีความหนาแน่นของกระดูกมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายที่ดีควรเป็นลักษณะการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักของแขนหรือขา เช่น
- เดิน
- วิ่งเหยาะ ๆ
- รำมวยจีน
- ลีลาศ
- การยกน้ำหนักเบา ๆ
- เต้นแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำ ๆ หรือสเต็ปแอโรบิก
ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย
ฝึกทรงตัวป้องกันการหกล้ม
นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ยังมีกายบริหารร่างกายง่าย ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงความทนทานของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น การออกกำลังกายดังกล่าวสามารถฝึกทำได้ทุกวัน โดยเริ่มต้นจากวันละ 10 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มวันละ 1 นาที จนกระทั่งถึงวันละ 30 นาที ถ้าไม่สามารถทำได้ทุกวัน ก็ไม่ควรน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน ทั้งนี้การฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม เป็นวิธีการที่ดีที่จะลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้
ผู้ที่มีประวัติเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าบ่อย ก่อนลุกจากเตียงหรือจากเก้าอี้ให้ขยับข้อเท้า 5 – 10 ครั้งแล้วจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นหาที่เกาะข้างเตียง หรือข้างเก้าอี้ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเซขณะลุก ควรใช้บันไดให้น้อยที่สุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ โครงเหล็ก 4 ขา ถ้าการทรงตัวไม่ดีให้ใส่รองเท้าที่มียางกันลื่น และหลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นเปียก ถ้าจำเป็นต้องทานยากล่อมประสาท ไม่ควรลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน แต่ให้ใช้กระโถนหรืออุปกรณ์ขับถ่ายข้างเตียงจะดีกว่า ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการยืนบนเก้าอี้และการปีนที่สูง
ปรับสิ่งแวดล้อมกันล้ม
การหกล้มเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และก่อให้เกิดปัญหากระดูกหักได้ง่าย สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหัก การปรับสภาพแวดล้อมเหล่านี้จะช่วยป้องกันการหกล้มได้
- บันได
- ทำราวบันไดทั้งสองข้าง ห้ามวางของบนบันได
- ใส่ยางกันลื่นบริเวณขอบบันได
- ให้มีแสงสว่างเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้พรมบนบันได
- ห้องนอน ห้องนั่งเล่น
- ในห้องและทางเดินต้องมีแสงสว่างให้เห็นเพียงพอ
- ไม่ทิ้งสิ่งกีดขวางเกะกะทางเดิน
- ไม่ควรมีธรณีประตู เพราะอาจทำให้สะดุดขณะก้าวข้ามได้
- พื้นห้องไม่ควรใช้เซรามิกหรือหินขัดจะทำให้ลื่นได้ง่าย การใช้ปาเก้หรือปูพรมจะช่วยกันลื่นได้ดี
- จัดเก็บสายไฟ สายโทรศัพท์ให้เรียบร้อย
- ห้องน้ำ
- พื้นห้องน้ำควรใช้ยางกันลื่น ถ้าเป็นเซรามิกควรใช้ตาเล็ก ๆ และมีผิวหยาบ
- ควรใช้เก้าอี้นั่งอาบน้ำ สำหรับผู้ที่มีการทรงตัวไม่ดี
- ควรทำราวจับในห้องน้ำ
- ควรมีไฟนำทางจากห้องนอนไปห้องน้ำ
- ห้องครัว
- ต้องทำความสะอาดทันทีหลังการใช้งาน โดยเฉพาะการเก็บเศษอาหารทันทีที่ทำหล่น
- ห้ามขัดพื้นครัวให้มัน
หากล้มกระดูกสะโพกหักรักษาอย่างไร
1) ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ2) ผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็ก
บทความนี้ได้รับอนุญาตแปลเป็นภาษาไทยจาก American Academy of Orthopaedic Surgeons (AAOS) http://orthinfo.aaos.org ห้ามนำไปเผยแพร่หรือแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต / AAOS ไม่มีส่วนในการแปลครั้งนี้