แนวทางปฏิบัติเมื่อออกจากโรงพยาบาลหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือสิ่งที่ผู้ป่วยควรใส่ใจและไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การดูแลแผลผ่าตัด
หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลผ่าตัดโดยตรง การเปลี่ยนผ้าปิดแผลผ่าตัดครั้งแรกจะทำโดยแพทย์ผู้ทำผ่าตัด โดยจะเปลี่ยนเป็นแผ่นปิดแผลแบบกันน้ำ โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมละลายและปิดทับด้วยเทปยึดผิวหนัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตัดไหม แพทย์ผู้ดูแลจะแกะแผ่นปิดแผลกันน้ำและเทปยึดติดผิวหนังประมาณ 14 – 20 วันหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถอาบน้ำและสัมผัสแผลได้แล้ว อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้แช่น้ำในอ่างจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี โดยประมาณ 5 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ในกรณีที่แผ่นปิดแผลหลุดออกก่อนเวลาพบแพทย์สามารถทำความสะอาดบริเวณรอบแผลผ่าตัดและปิดแผ่นปิดแผลกันน้ำอันใหม่แทนอันเดิมได้ หรือไปทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน
- ห้ามแกะแผ่นปิดแผลออกเองโดยเด็ดขาด
- หากสังเกตว่าแผลซึมมากขึ้น มีอาการแดงมากขึ้น หรือปวดมากขึ้นรอบ ๆ แผลผ่าตัด กรุณาติดต่อทีมแพทย์ผู้ดูแล
- หากท่านรู้สึกมีไข้หรือไม่สบาย กรุณาติดต่อทีมแพทย์ผู้ดูแล
อาการบวมและรอยช้ำ
อาการบวมและรอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติในขาข้างที่ผ่าตัดและจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจนานหลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ หากทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายแล้วทำให้อาการบวมมากขึ้นให้นอนแล้วยกขาขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจ การประคบเย็นสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ให้ประคบบริเวณแผลผ่าตัดประมาณ 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงร่วมกับการยกขาสูงกว่าระดับหัวใจจะช่วยลดอาการปวดและบวมลงได้ดี
บรรเทาอาการปวด
ปกติแล้วหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถรู้สึกถึงอาการปวดได้ ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด ซึ่งจะพอดีกับการนัดตรวจติดตามครั้งหน้า ยาแก้ปวดใช้เวลาก่อนออกฤทธิ์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นควรรับประทานยาก่อนที่จะมีอาการปวด ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยาแก้ปวดและห้ามขับรถขณะใช้ยาแก้ปวด หากต้องการยาแก้ปวดเพิ่มเติมก่อนถึงวันนัดตรวจติดตามครั้งต่อไป กรุณาติดต่อแพทย์ผู้ดูแล
ควบคุมความเจ็บปวด
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มทำกายภาพบำบัด
- ค่อย ๆ ลดการใช้ยาแก้ปวดจนเหลือแค่พาราเซตามอล
- เปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 45 นาทีตลอดวัน
- ประคบเย็นบริเวณแผลผ่าตัดจะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ สามารถใช้การประคบเย็นก่อนและหลังการออกกำลังกาย
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
- ผู้ป่วยอาจมีความอยากอาหารลดลง ซึ่งจะกลับมาเป็นปกติในไม่ช้า ควรดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ไม่ควรนอนกลางวันหรืองีบช่วงกลางวันมาก เนื่องจากอาจทำให้นอนไม่หลับในเวลากลางคืนได้
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าพละกำลังน้อยลงกว่าปกติในช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัด
การอาบน้ำ
ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเช็ดตัวในช่วงแรกเมื่อกลับบ้าน ทีมแพทย์ผู้ดูแลจะให้คำแนะนำว่าเมื่อไรสามารถอาบน้ำได้
การเดิน
เดินเป็นระยะทางสั้น ๆ ทุก ๆ 2 ชั่วโมง และเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน โปรดใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินทุกครั้งเพื่อป้องกันการออกกำลังมากเกินไป ห้ามเดินบนพื้นไม่เรียบหรือพื้นที่ขรุขระ เช่น สนามหญ้า
การนั่ง
นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและที่วางแขน เบาะเก้าอี้ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้มือช่วยยันที่วางแขนเพื่อช่วยตอนลุกขึ้นยืน ห้ามนั่งเก้าอี้นั่งเตี้ยหรือชักโครกที่มีระดับต่ำ หากนั่งนานกว่า 30 นาทีโปรดบริหารด้วยการขยับข้อเท้าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต
การหยิบสิ่งของ
ห้ามก้มหยิบของทุกกรณี
อาหารและการออกกำลังกาย
การรับประทานอาหารให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอและช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่อยากอาหารได้ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ถ้ารู้สึกไม่อยากอาหาร แนะนำให้แบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 – 6 มื้อต่อวัน
คำแนะนำ: ทีมแพทย์ผู้ดูแลอาจให้คำแนะนำอื่นเพิ่มเติม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ติดต่อทีมแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการบวม แดง และปวดมากขึ้นบริเวณที่ผ่าตัด
- มีลักษณะการติดเชื้อ
- มีแผลซึมหรือเลือดไหลออกจากแผลมากขึ้น
- ปวด ตึง หรือกดเจ็บบริเวณน่องขา
- ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายใด ๆ ได้
***หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แขนขาอ่อนแรง สับสน ซึมลง หายใจไม่ออก กรุณามาโรงพยาบาลทันที*
แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคือ การเพิ่มองศาการเหยียดงอข้อเข่าให้มากขึ้น ทีมกายภาพบำบัดจะช่วยและสอนให้ปฏิบัติเพื่อออกกำลังในทุก ๆ วัน เข่าควรจะงอได้ประมาณ 90 องศาก่อนออกจากโรงพยาบาล (3 – 5 วันหลังผ่าตัด) และเหยียดได้ตรงภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด โดยทั่วไปท่ายืนหรือนอนจะทำให้เหยียดเข่าได้ง่ายขึ้น และท่านั่งจะทำให้งอเข่าได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
การบริหารเข่า
- เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา นั่งให้ขาเหยียดมาข้างหน้า เหยียดเข่าตรง เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเพื่อกดเข่าลงกับพื้นและค้างไว้ 3 – 5 วินาที เพื่อให้เข่าเหยียดตรงที่สุดเท่าที่สามารถทำได้และเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขา ทำ 2 เซ็ต เซ็ตละ 15 ครั้ง อาจรองผ้าขนหนูม้วนไว้ใต้ข้อเท้าเพื่อที่ส้นเท้าไม่กดกับพื้น
- ยกขาตรง นอนเหยียดขาบนพื้นราบ เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกให้มากที่สุด ยกขาขึ้นเหนือพื้น 2 – 3 นิ้ว แล้วเอาขาลงช้า ทำซ้ำ 2 เซ็ต เซ็ตละ 15 ครั้ง
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
- ออกกำลังกายและกายภาพบำบัดทุกวันตามที่ได้รับคำแนะนำในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด โดยเฉพาะช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก
- ประคบเย็นบริเวณเข่าหลังจากออกกำลังกายหรือทำกายภาพ
- ค่อย ๆ เพิ่มระยะทางการเดิน
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- นั่งเก้าอี้เตี้ย
- บิด – หมุนเข่า