หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
บำรุงสมอง เพิ่มความจำในผู้สูงอายุ

หลายคนอาจเคยประสบปัญหาหลงลืมสิ่งของบางอย่างที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า บ่อยแค่ไหนที่วางของผิดที่หรือลืมชื่อคนรู้จักที่เพิ่งพบ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นทำให้สมองเสื่อมและเกิดภาวะความจำถดถอย อย่างไรก็ตาม กลไกการเกิดภาวะสมองเสื่อมแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุและสภาวะหรือโรคร่วมของแต่ละผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยไม่เพียงแต่เป็นความบกพร่องของความจำระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความเสื่อมของระบบและการทำงานอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหว ความสับสนต่อเวลาหรือสถานที่ ปัญหาด้านการใช้ภาษา ปัญหาการคำนวณ ปัญหาด้านอารมณ์ รวมไปถึงการมีพฤติกรรมและความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยตนเองที่ลดลงเมื่อเทียบกับความสามารถในอดีต  

 

โรคอัลไซเมอร์กับผู้สูงอายุ

โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลายชนิด เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular Dementia) ภาวะสมองเสื่อมที่มีพยาธิสภาพอยู่ในสมองส่วนหน้า (Frontotemporal Dementia) ภาวะสมองเสื่อมจากเลวี่บอดี้ที่เกิดจากโปรตีนสะสม (Lewy Body Dementia) และภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease dementia) สิ่งที่สำคัญคือการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันท่วงที เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการดำเนินของโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะยาว 

 

ตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอย

เมื่ออาการผิดปกติทางด้านความจำเกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาทเฉพาะทางด้านความจำและพฤติกรรม การตรวจวินิจฉัยประกอบไปด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การทดสอบด้านความจำ ในบางกรณีอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดและการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI Scan) เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติด้านความจำและการนึกคิด โดยสาเหตุอื่น ๆ ที่มักพบ ได้แก่ ภาวะขาดวิตามินบี 12 ภาวะไทรอยด์ต่ำ การติดเชื้อ HIV โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคทางสมองและระบบประสาทอื่น ๆ เช่น ภาวะคั่งน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ (Normal Pressure Hydrocephalus) โดยหลังจากที่แพทย์ผู้ชำนาญการได้ทำการตรวจทางสมองและระบบประสาทอย่างละเอียดแล้ว หากพบว่าภาวะถดถอยของความจำเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย การวินิจฉัยสามารถสรุปได้ว่า ผู้ป่วยมีโรคทางการถดถอยของสมองได้ทั้งแบบไม่รุนแรงและ รุนแรง ขึ้นอยู่กับอาการและความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน  

 

ตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจพิเศษ 

เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยได้อย่างถูกต้อง การตรวจเพิ่มเติมอื่น อาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) การเจาะตรวจน้ำในไขสันหลัง (Lumbar Puncture) และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า PET Scan (Positron Emission Tomography)

  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) ได้แก่ 
    • การตรวจยีน APOE ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัย (Early – onset Alzheimer Dementia) ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี
    • การตรวจยีน PSEN1, PSEN2 และ APP ในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ 
    • การตรวจยีน C9orf72 ในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีพยาธิสภาพอยู่ในสมองส่วนหน้า (Frontotemporal Dementia)
  • การเจาะตรวจน้ำในไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เป็นหัตถการเพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางและเพื่อเป็นการตรวจหาโปรตีนที่ผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น Beta – Amyloid, Phosphorylated – Tau Protein และ Total – Tau Protein
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET Scan (Positron Emission Tomography) โดยใช้สารเภสัชรังสี Pittsburgh Compound B (PiB PET Scan) และ Amyloid (Amyloid PET Scan) เพื่อใช้ในการตรวจหาการสะสมของโปรตีน Beta – Amyloid Plaque ในสมอง ซึ่งเป็นโปรตีนผิดปกติที่มักพบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์  
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET Scan (Positron Emission Tomography) โดยใช้สารเภสัชรังสี FDG (FDG PET Scan) ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสที่สามารถใช้ประเมินกระบวนการเมตาบอลิซึมของสมอง โดยในภาวะสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ จะมีรูปแบบการลดลงของกระบวนการเมตาบอลิซึมของสมองที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค สาร FDG จึงเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker) ที่สำคัญในการประเมินภาวะสมองเสื่อม 

การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วย PET Scan สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยที่อาจจะยังไม่มีอาการแสดง นำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และลดโอกาสการดำเนินไปของโรคความจำเสื่อม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจทางรังสี เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Scan) จะสามารถตรวจพบความผิดปกติ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงทางด้านความคิดและความจำเกิดขึ้นแล้ว 

บำรุงสมอง เพิ่มความจำในผู้สูงอายุ

การรักษาภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอย

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเพื่อหยุดการดำเนินของภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามมียาหลายชนิดที่สามารถช่วยชะลออาการไม่ให้ภาวะสมองเสื่อมแย่ลง ทำให้เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่ภาวะสมองเสื่อมควรได้รับการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยการรักษาจะช่วยควบคุมอาการและป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมไปมากกว่าเดิม

หากภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ชัดเจน การรักษาจะเป็นการรักษาที่สาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากเนื้องอกหรือโพรงน้ำในสมองขยายตัว อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดสมอง หรือถ้าเกิดจากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ก็สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาทดแทน เป็นต้น ในส่วนของการรักษาความจำเสื่อม ยาบางกลุ่ม เช่น Cholinesterase Inhibitors สามารถชะลออาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ ซึ่งจะได้ผลในการชะลอการดำเนินโรคได้ดี ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก ๆ และเพื่อเป็นการชะลอการเสื่อมของสมอง อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาทจะแนะนำให้ผู้ป่วยมีการฝึกฝนสมอง รวมทั้งฝึกสมาธิและทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความคิดและความจำควบคู่ไปกับการใช้ยา โดยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การวาดรูป การคิดคำนวณเกี่ยวกับตัวเลข การเล่มเกมต่าง ๆ เช่น ซูโดกุ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้มและควบคุมโรคประจำตัวที่ผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินของภาวะเสื่อมแย่ลง 

รักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) 

การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก หรือที่มักเรียกกันว่า TMS เป็นการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทรูปแบบใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือใช้ยา โดยหลักการของการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก คือ การใช้เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กกำลังสูงและนำสนามแม่เหล็กนั้นไปกระตุ้นสมองในบริเวณที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการกระตุ้นสมองในผู้ป่วยแต่ละราย และตรวจหากำลังคลื่นไฟฟ้าที่เหมาะสมที่จะให้การรักษา (Motor Threshold) จากนั้นจะมีการวางตำแหน่งเครื่องกระตุ้นในบริเวณดังกล่าวและทำการกระตุ้นเป็นจังหวะ เครื่องกระตุ้นนี้จะทำให้เกิดเสียงคลิกและจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้เครื่องกระตุ้นรู้สึกเหมือนมีการแตะเบา ๆ โดยที่ไม่มีความเจ็บปวด หลังรับการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ การรักษาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 20 – 60 นาที ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง โดยที่จำนวนครั้งที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยเป็นหลัก  

ป้องกันภาวะสมองเสื่อม

สำหรับในคนที่ยังไม่มีอาการสามารถลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมและความจำเสื่อมได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อศีรษะ ฝึกฝนการใช้ความคิดและความจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิต ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งลดหรือเลิกสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อความจำ เช่น ยานอนหลับและยาแก้แพ้ ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับการรักษาเนื่องจากเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์