หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปวดหลังปวดสะโพกร้าวลงขาเรื้อรังจากข้อเชิงกราน (SI JOINT PAIN) อาการที่คล้ายกระดูกทับเส้นแต่ไม่ใช่กระดูกทับเส้น

เพราะอาการปวดหลังปวดสะโพกร้าวลงขาอาจไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาทเสมอไป อาจเป็นอาการผิดปกติของข้อเชิงกรานบริเวณสะโพก ซึ่งหากไม่วินิจฉัยให้ถ่องแท้และรักษาผิดทางอาจนำไปสู่อาการเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรืออาจผ่าตัดแล้วไม่หายปวดได้ ดังนั้นการค้นหาจุดปวดที่ถูกต้องโดยแพทย์เฉพาะทางและทำการรักษาให้ถูกโรคถูกทางคือสิ่งที่จะช่วยให้การเคลื่อนไหวและคุณภาพชีวิตกลับมาดีอีกครั้ง

รู้จักโรค SI JOINT PAIN

โรค SI Joint Pain หรือ Sacroiliac Joint Dysfunction คือ โรคที่เกิดจากข้อเชิงกรานซึ่งอยู่บริเวณสะโพกใกล้กับก้นกบที่มีหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัวและรับแรงต่อจากขาและสะโพก มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากการเคลื่อนไหวผิดปกติ การเสื่อม การยึด ติด รั้ง การหลวม การอักเสบของเส้นเอ็นที่ยึดข้อเชิงกราน ตลอดจนการวางตัวของแนวกระดูกผิดไปจากเดิมและเกิดการเสียดสีของกระดูกจนเจ็บปวดในขณะเคลื่อนไหว อาการปวดอาจเป็นที่ก้นย้อย ร้าวลงขา ไปถึงปลายเท้า มีอาการชาได้เหมือนกับโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจนทำให้เกิดการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้เสมอ ๆ กล่าวกันว่าโรคปวดข้อกระดูกเชิงกรานเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดที่ถูกละเลยไม่ได้รับการวินิจฉัย เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา

อาการบอกโรค

อาการสำคัญที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นโรค SI Joint Pain ได้แก่

  • ปวดบริเวณสะโพกและร้าวลงขาที่หาสาเหตุไม่เจอ
  • ปวดสะโพก เกิดขึ้นขณะเปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืน หรือขณะนั่งนาน หรือขณะนอนพลิกตัว
  • ขาอ่อนแรง เมื่อยง่าย เมื่อเดินระยะทางไกล หรือเดินขึ้นที่สูง
  • ปวดขณะนอนหลับ หาท่านอนที่สบายไม่ได้ ทำให้มีผลต่อการนอนไม่เต็มอิ่ม
  • นั่งนานแล้วปวดก้น ต้นขา หาท่านั่งสบายได้ลำบาก ต้องนั่งตะแคงตัว
  • วิ่งออกกำลังกายหรือเล่นโยคะแล้วยิ่งปวดสะโพกร้าวลงข้างขา

ผู้ที่มีความเสี่ยง

  • ผู้ที่นั่งทำงานหรือขับรถท่าเดิมเป็นเวลานานติดต่อกัน
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณสะโพก เช่น ล้มก้นกระแทก, อุบัติเหตุทางรถยนต์
  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร เนื่องจากกระดูกเชิงกรานหลวม
  • ผู้ที่มีภาวะหลังคด กระดูกสันหลังผิดรูปแล้วปวดสะโพกเรื้อรัง
  • ผู้ที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันมาเป็นเวลานานแล้วเกิดการปวดสะโพกไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่ปวดคล้ายกระดูกสันหลังทับเส้น แต่ผลเอ็มอาร์ไอไม่ชัดเจนว่าจะมีการทับเส้นรุนแรงจริง
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วไม่หายปวด หรือกลับมาปวดสะโพกร้าวลงขาอีกครั้ง
  • ผู้ป่วยปวดสะโพกที่มีประวัติข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ หรือโรคที่คล้ายคลึงกัน

วิธีการวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยและการรักษาโรคปวดข้อกระดูกเชิงกรานมักจะมีความซับซ้อนมากกว่าโรคทางกระดูกสันหลัง เนื่องจากไม่สามารถใช้เอกซเรย์หรือภาพถ่ายทางรังสีมาใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยได้ จำเป็นต้องอาศัยความละเอียดในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย จากแพทย์ที่มีประสบการณ์และชำนาญเรื่องกระดูกเชิงกรานมาแล้วเท่านั้น

1) การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • ทานยา ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
  • ทำกายภาพบำบัด โดยการควบคุมของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ชำนาญเรื่องข้อกระดูกเชิงกราน
  • ระงับความปวด (Pain Intervention) โดย
    • การฉีดยาชาและยาต้านการอักเสบเข้าในข้อเชิงกราน (SI joint injection) เป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดข้อเชิงกรานที่จำเป็น ในกรณีที่แพทย์ต้องการหาจุดสร้างความปวดที่ชัดเจน (Pain Generator)
    • การจี้ข้อเชิงกรานด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (SI joint rhizotomy) เป็นการลดปวดแบบไม่ต้องผ่าตัดวิธีหนึ่งที่เป็นมาตรฐานและได้ผลดี

2) การรักษาแบบผ่าตัด

ในกรณีที่ข้อเชิงกรานเกิดการเสื่อมหลวม ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และล้มเหลวจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดมาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกเชิงกราน โดยปัจจุบันมีการผ่าตัดเชื่อมข้อเชิงกรานแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery (MIS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บ และฟื้นตัวเร็ว ได้ผลดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด

หากมีอาการปวดหลังปวดสะโพกร้าวลงขาเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว เพราะการวินิจฉัยมีความสำคัญต่อวิธีการรักษา เนื่องจากอาการของโรคปวดข้อเชิงกรานมีความคล้ายคลึงกับโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นอย่างมาก ทำให้มีการวินิจฉัยที่สับสนอยู่เสมอ อาจเป็นต้นเหตุของการรักษาทางกระดูกสันหลังที่ไม่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญโรคปวดข้อเชิงกรานนี้สามารถรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป