หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
Reboot your step รักษ์เท้าเพื่อก้าวที่มั่นคง

กระดูกเท้า

“เท้า” เป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุด แต่มีความสำคัญกับร่างกายอย่างมาก โดยทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย รองรับการเคลื่อนไหวและสะท้อนการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย กระดูกบริเวณเท้าประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ 26 ชิ้น กระดูกรอบข้อเท้าประกอบด้วยส่วนปลายของของกระดูกหน้าแข้ง มีส่วนนูนของกระดูก เรียกว่า กระดูกตาตุ่มด้านใน (Medial Malleolus) และกระดูกส่วนปลายของกระดูกน่อง มีส่วนนูนของกระดูกเรียกว่า กระดูกตาตุ่มด้านนอก (Lateral Malleolus) และกระดูกเท้า (Tarsal Bone) ซึ่งกระดูกส่วนต่าง ๆ และเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้า ร่วมกันทําหน้าที่ของข้อเท้าในการขยับ เหยียด กระดก และหมุนข้อเท้า ช่วยในการทรงตัว ยืน เดิน และถ่ายรับน้ำหนักตัว

ปัญหาเท้าและข้อเท้า

ปัญหาเท้าและข้อเท้าที่พบบ่อย ได้แก่

  1. อุบัติเหตุข้อเท้าและเท้าพลิก
  2. ความผิดปกติทางโครงสร้างของกระดูก เส้นเอ็น หรือข้อของเท้าและข้อเท้า โดยการผิดปกติของโครงสร้างเพียงโครงสร้างเดียวสามารถส่งผลต่อโครงสร้างข้างเคียง อันนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางโครงสร้างอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ท่าเดิน การลงน้ำหนักเท้าขณะย่างก้าวเปลี่ยนไป ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อข้อที่อยู่สูงขึ้นไป เช่น ข้อเข่าและข้อสะโพก รวมถึงข้อบริเวณหลังด้วย

ความผิดปกติของเท้าและข้อเท้า

ความผิดปกติของเท้าและข้อเท้าพบได้ทุกส่วนของเท้า โดยสามารถแบ่งส่วนของเท้าออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. Forefoot บริเวณปลายนิ้ว 
  2. Midfoot บริเวณอุ้งเท้า
  3. Hindfoot บริเวณข้อเท้า

ความผิดปกติที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเก
  • ภาวะปลายนิ้วเท้าผิดรูปหรือขี่กัน
  • เท้าแบน
  • อุ้งเท้าสูง
  • ข้อเท้าเอียงผิดรูป ซึ่งอาจต่อเนื่องมาจากส่วนอุ้งเท้าหรือเป็นส่วนของข้อเท้าเอง

สาเหตุภาวะเท้าและข้อเท้าผิดรูป

สาเหตุของภาวะเท้าและข้อเท้าผิดรูป อาจเกิดจาก

  1. กรรมพันธุ์ โครงสร้างทางกายวิภาคของผู้ป่วยที่ได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม
  2. ภาวะเอ็นข้อหลวม หรือข้อหย่อน
  3. การใส่รองเท้าที่ผิดสุขลักษณะ หรือไม่เหมาะกับเท้าของบุคคลนั้น ๆ เช่น ส้นสูง รองเท้าที่มีการรับบริเวณอุ้งเท้าไม่เหมาะสม รองเท้าที่มีหน้าเท้าแคบหรือกว้างเกินไป
  4. ภาวะผิดรูปหลังการบาดเจ็บของกระดูกและเส้นเอ็นข้อเท้า และเท้าที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น จนอาจเกิดปัญหากระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป ข้อเอียง ผิวกระดูกข้อสึกหรือมีการกระเทาะบางส่วน เส้นเอ็นเคลื่อนหลุดออกจากร่องเส้นเอ็น เส้นเอ็นข้อเท้าหย่อนเป็นเหตุให้ข้อไม่มั่นคงและส่งผลให้เกิดข้อเสื่อมในที่สุด
  5. ภาวะข้อผิดรูปจากการทำลายข้อที่มาจากภาวะแทรกซ้อนของระบบปลายประสาท (Charcot Arthropathy) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

การรักษาโรคเท้าและข้อเท้าของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ประกอบด้วย ทีมศัลยแพทย์ที่ผ่านการอบรมและมีความชำนาญเฉพาะทางด้านโรคเท้าและข้อเท้า โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยเร็ว   

บาดเจ็บบริเวณรอบข้อเท้า

การบาดเจ็บบริเวณรอบข้อเท้าเกิดได้จากการบาดเจ็บโดยตรงหรือการบาดเจ็บโดยอ้อม เช่น การถูกกระทบกระแทกของข้อเท้าต่อพื้นผิว หรือวัตถุแข็ง การกระแทกตามแนวดิ่ง หรือการบิดงอของข้ออย่างรุนแรง ทําให้เกิดการหักของกระดูกในบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกเปราะบาง กระดูกพรุน หรือผู้สูงอายุ

โดยลักษณะและความรุนแรงของการแตกหักของกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของการบาดเจ็บและความแข็งแรงของกระดูก นอกจากข้อมูลต่าง ๆ และอาการแสดงแล้ว แพทย์ต้องอาศัยภาพรังสีในการช่วยวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ได้แก่ ภาพถ่ายรังสี (Plain X-Ray) และ Computer Tomography Scan (CT Scan) ในการแตกหักของกระดูกที่ซับซ้อนหรือการแตกร้าวที่สังเกตได้ยาก

Reboot your step รักษ์เท้าเพื่อก้าวที่มั่นคง

รักษากระดูกเท้าแตกหัก

การรักษาหลักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (Conservative Treatment) สามารถทําได้ในกรณีที่มีการแตกหักของกระดูกนั้น ๆ เมื่อติดแล้วไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนขยับ รับน้ำหนักตัว และการใช้งานเดิมของผู้ป่วย เช่น กระดูกร้าว หรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ หรือการแตกหักนั้น ๆ ไม่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วย เป็นต้น โดยศัลยแพทย์สามารถให้การรักษาโดยการใส่เฝือกหรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนขยับข้อเข่า และป้องกันการถ่ายลงน้ำหนัก จนกระทั่งกระดูกมีการเชื่อมติดที่แข็งแรงเพียงพอ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด (Operative Treatment) เป็นการรักษาในกรณีที่มีการแตกหักและเคลื่อนของผิวข้อ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรักษาโดยการใส่เฝือกได้ โดยในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านในและด้านนอกของข้อเท้าปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก (Open Reduction and Internal Fixation with Screws/ Plate and Screw) หรือการรัดลวดโลหะ (Tension Band Wiring) เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม ร่วมกับการทํากายภายเพื่อให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจน และการทำภาพ 3 มิติในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด

ทั้งนี้การรักษากระดูกบริเวณข้อเท้าหักนั้นมีการรักษาที่แตกต่างกันตามตําแหน่งของชิ้นกระดูก การเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูกที่แตกหัก ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ความแข็งแรงของกระดูก และการบาดเจ็บร่วม (Associated Injury) โดยปัจจัยต่าง ๆ ศัลยแพทย์ด้านการบาดเจ็บของกระดูกและข้อจะนํามาเป็นข้อพิจารณาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย โดยคํานึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคประจําตัว การใช้งานเดิมของผู้ป่วยก่อนการบาดเจ็บ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ

Reboot your step รักษ์เท้าเพื่อก้าวที่มั่นคง

การบาดเจ็บของเส้นเอ็นรอบข้อเท้า

นอกเหนือจากการบาดเจ็บของกระดูกแล้ว รอบข้อเท้ายังประกอบด้วยเส้นเลือดใหญ่และเส้นประสาทที่สําคัญ เนื้อเยื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ การบาดเจ็บของเส้นเอ็นรอบข้อเท้า (Ankle Sprain) ซึ่งมักพบว่ามีการบาดเจ็บจากการบิด พลิกของข้อเท้า เกิดการยืดออกของเส้นเอ็นจนเนื้อเยื่อของเส้นเอ็นมีการฉีกขาด ส่งผลให้มีอาการเจ็บ บวมและเลือดออก เกิดเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง การขยับของข้อเท้า และการลงน้ำหนักจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บมากขึ้น อาการมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นเอ็น

ความรุนแรงของการบาดเจ็บเส้นเอ็น

ความรุนแรงของการบาดเจ็บเส้นเอ็น สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับ 1 เส้นเอ็นมีการยืดเล็กน้อย แต่ไม่เสียความมั่นคงของข้อเท้า
  • ระดับ 2 เส้นเอ็นมีการฉีกขาดบางส่วน แต่ความมั่นคงของข้อเท้าไม่เสีย หรือเสียเพียงเล็กน้อย
  • ระดับ 3 เส้นเอ็นมีการฉีกขาดทั้งหมดและเสียความมั่นคงของข้อเท้า

รักษาเส้นเอ็นบาดเจ็บ

การรักษาเบื้องต้นของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเพื่อลดอาการอักเสบ อาการบวม และเจ็บ ทําได้โดยพักการใช้งาน ประคบเย็น และยกเท้าให้สูงขึ้น ( Rest, Ice Compression, Elevation / RICE) หลีกเลี่ยงความร้อน แอลกอฮอล์ การใช้งานหนัก การบีบนวด (Heat, Alcohol, Running, Massage / HARM ) โดยเฉพาะในช่วง 48-72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ พักการใช้งานและใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บและอาการอักเสบ ซึ่งอาจร่วมกับการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือใส่เผือก ในรายที่ข้อเท้าไม่เสียความมั่นคง หรือเสียความมั่นคงเล็กน้อย สําหรับการบาดเจ็บที่รุนแรงจนมีผลต่อความมั่นคงของข้อเท้า มีผลต่อการใช้งานในบางราย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทําโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น ให้เส้นเอ็นกลับมามีความแข็งแรง และข้อเท้ามีความมั่นคงได้

ผ่ารักษาแบบแผลเล็ก

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีความพร้อมทางด้านการรักษาโรคทางกระดูกอย่างครบครัน โดยเฉพาะการรักษาโรคเท้าและข้อเท้า ทั้งด้านแพทย์ผู้ชำนาญการ บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ในการผ่าตัดแผลเล็กและอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งมีขนาดเล็กพิเศษ โดยมีขนาด 1.9 และ 2.7 มม.ทั้งนี้การผ่าตัดผ่านกล้องสามารถทำให้แพทย์ได้เห็นพยาธิสภาพของโรคได้อย่างชัดเจน โดยภาพที่ได้จากการผ่าตัดผ่านกล้องจะมีความละเอียดระดับ 4K และภาพมีขนาดที่ขยายกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่า 3 – 10 เท่าตัว ส่งผลให้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 4 – 7 มม. และผู้ป่วยมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้กลับมาเดินและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลผ่าตัดปกติ การผ่าตัดผ่านกล้องมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดที่น้อยกว่า

ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันสามารถนำมาปรับใช้ในการรักษาที่หลากหลาย เช่น การตกแต่งกระดูกงอกในข้อเท้าและบริเวณรอบ ๆ ข้อเท้าที่ขวางทิศทางการขยับของข้อเท้า ซึ่งพบบ่อยในนักกีฬาหรือผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บเรื้อรังของข้อเท้า การผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นข้อเท้าในกรณีที่มีเส้นเอ็นฉีกขาดและมีข้อเท้าหลวม ซึ่งมีความก้าวหน้าทางด้านเทคนิคอย่างมากและสามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้ผลดี  การตกแต่งผิวข้อในกรณีข้อเท้าบาดเจ็บที่มีการกระเทาะของกระดูกอ่อนผิวข้อ การผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นร้อยหวายผ่านกล้อง รวมไปถึงการผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ครอบคลุมและครบวงจร ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้าทำงานร่วมกับทีมแพทย์สหสาขา นักกายอุปกรณ์ นักกายภาพ และแผนกฟื้นฟูสมรรถนะเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา ตั้งแต่การออกแบบตัดแผ่นรองเท้า อุปกรณ์ปรับแต่งรองเท้าและรองเท้าเฉพาะ การฝึกเดิน ฝึกการทรงตัว ฝึกและยืดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน รวมถึงการออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยแต่ละบุคคลเพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีและเหมาะกับผู้ป่วย