หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ คืนความมั่นใจทุกการเคลื่อนไหว

หลังจากผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมไปแล้ว เมื่อใช้งานไปเป็นเวลานานย่อมส่งผลให้เกิดความเสื่อมหรือสึกหรอของพลาสติกหมอนรองข้อเทียม ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกเจ็บปวดและอาจส่งผลให้แนวของขาผิดรูปไปจากเดิม จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อคืออีกทางเลือกในการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น

ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ

ต้นเหตุของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำมีได้หลายสาเหตุ ได้แก่

  • ข้อสะโพกเทียมมีภาวะหลวมและสึกหรอ
  • ข้อสะโพกเทียมติดเชื้อ
  • ข้อสะโพกเทียมหลุดซ้ำซ้อน
  • กระดูกรอบข้อสะโพกเทียมแตกหัก
  • สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด รวมถึงเดินไม่ได้หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้ว

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ (Revision Hip Replacement) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนข้อสะโพกเทียมเดิมออกแล้วทดแทนด้วยชิ้นส่วนข้อสะโพกเทียมชนิดใหม่ ทำให้ผู้ป่วยหายจากความเจ็บปวด มีการใช้งานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัด

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ VS ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมครั้งแรก

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำมีความแตกต่างจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมครั้งแรก ได้แก่

  • ใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น
  • ความยากในการผ่าตัดเพิ่มขึ้น
  • วางแผนก่อนผ่าตัดอย่างละเอียด
  • ใช้ข้อสะโพกเทียมรุ่นพิเศษที่แตกต่างไปจากข้อสะโพกเทียมรุ่นปกติ

ผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคการผ่าตัดโดยการเข้าทางด้านหลังหรือด้านข้าง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวที่ช้า เนื่องจากมีการตัดกล้ามเนื้อกางข้อสะโพก รวมถึงอาจทำให้มีอัตราการหลุดของข้อสะโพกสูงขึ้นจากการตัดกล้ามเนื้อสะโพกด้านหลัง ซึ่งส่งผลให้ความมั่นคงของข้อสะโพกลดลง และส่งผลให้มีความยาวขาที่ยาวขึ้นหลังผ่าตัด ดังนั้นเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach) จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะหลังผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนผ่าตัด แพทย์เฉพาะทางสามารถวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้ถูกต้อง อัตราผลแทรกซ้อนต่ำ อีกทั้งหมดกังวลกับอัตราการหลุดของข้อสะโพก อัตราการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัด และอัตราการผ่าตัดซ้ำได้เป็นอย่างดี

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

การผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ได้แก่

  • ปวดลดลง
  • ฟื้นตัวไวขึ้น เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ
  • แผลผ่าตัดเล็กลง
  • แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมในการผ่าตัดซ่อมได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบปกติ
  • อัตราการหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำ
  • ขณะผ่าตัดแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษเพื่อตรวจสอบการวางตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่
  • ใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี (Computer Navigation) ในการตรวจสอบตำแหน่งของข้อสะโพกเทียม
  • ประเมินความยาวขาหลังผ่าตัดให้มีความยาวเท่ากันได้ง่าย

ผู้ที่ควรเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

  • ผู้ป่วยที่มีการสึกหรอของเบ้าข้อสะโพกเทียม
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกหลุดซ้ำซ้อน
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาความยาวขาไม่เท่ากันหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกเทียมหลุดหลวม
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บข้อสะโพกเทียมมากหลังจากการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกเทียมเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน มีความเสี่ยงสูง และสร้างความกังวลให้กับผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด แต่ด้วยเทคนิคใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนซ่อมข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ไม่เพียงนำมาซึ่งผลการผ่าตัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยลดความเจ็บปวด ลดภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญข้อสะโพกเทียมสามารถใช้งานได้นาน 15 – 20 ปี ช่วยให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันใกล้เคียงปกติ ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น