ก่อนจะพึ่งยาแก้ปวดครั้งต่อไป ลองมาดูว่ามีวิธีไหนที่ช่วยบรรเทาหรือหยุดอาการปวดหัวให้หมดไปได้ เพราะการกินยาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย บางคนกินยาเข้าไปแล้วอาการปวดก็ยังไม่หายแถมยังสะสม ส่งผลกระทบต่อตับและไตตามมาในภายหลัง หรือในคนไข้บางคนที่ไม่สามารถกินยาแก้ปวด เนื่องจากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ยาจึงไม่ใช่ทางออกเสมอไป


ไมเกรนมีสาเหตุจากอะไร

  • สังเกตดูว่าทุกครั้งที่มีอาการปวดหัว เริ่มต้นจากอะไร เพราะแต่ละคนมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัวแตกต่างกัน บางคนอาการป่วยมาพร้อมกับความเครียดและพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ บางคนเริ่มปวดหัวหลังการเผชิญกับแสงแดดจ้าในเวลากลางวันหรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางคนรู้สึกปวดหัวทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หรือได้กลิ่นฉุนจากน้ำหอม กลิ่นควันธูป เหล่านี้คือปัจจัยยอดฮิตที่ทำให้อาการปวดกำเริบและเป็นปัญหาใหญ่ของคนไข้ในปัจจุบัน
  • อาหารบางประเภทมีส่วนเสริม ทำให้อาการกำเริบ เช่น อาหารแปรรูป อย่างไส้กรอกรมควันที่มีส่วนผสมของสารกันบูด อาหารประเภทหมักดอง ผงชูรส น้ำตาลเทียม ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์แดง เบียร์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน กาแฟ ชา โกโก้ น้ำอัดลม ตลอดจนชีสและผงชูรส
  • ผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีรอบเดือน ทำให้สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และการอดอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอาการได้เช่นกัน

บอกลาไมเกรน

ดูแลรักษาไมเกรนอย่างไร

เมื่อค้นหาสาเหตุเจอแล้ว สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยงหรือหยุดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้ การที่ผู้ป่วยเดินทางมาพบแพทย์จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับอาการที่เป็น แม้กระทั่งข้อปฏิบัติในการรับประทานยาที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เช่น เมื่อรู้สึกปวดหัวแล้วให้รีบกินทันทีเพื่อระงับอาการ แทนที่จะทนให้อาการปวดรุนแรงก่อนถึงจะกินยา ซึ่งเป็นผลเสีย เพราะเมื่อร่างกายเข้าใจว่ายอมรับอาการปวดได้ก็จะเริ่มปรับระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากไมเกรนมาเยือนครั้งต่อไป การหาสาเหตุของอาการปวดหัวให้พบคือสิ่งสำคัญ

“การค้นหาสาเหตุให้พบจะนำมาสู่การรักษาอย่างถูกวิธี เพราะหลายครั้งที่แพทย์ตรวจพบว่าสาเหตุของไมเกรนไม่ได้มาจากปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก แต่เป็นอาการปวดที่มาจากปัจจัยภายใน เช่น ปวดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งต่อให้รับประทานยาเป็นประจำก็ใช่ว่าจะหาย” 


เทคนิคการวินิจฉัยและรักษาอาการไมเกรนเป็นอย่างไร

นอกจากการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ปัจจุบันมีการนำเทคนิคใหม่ในการวินิจฉัยและรักษาอาการปวดศีรษะอย่างได้ผล เช่น ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) เพื่อวัดการทำงานของร่างกายขณะปวดหัว เปรียบเทียบกับร่างกายในยามที่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ กล้ามเนื้อ ความดัน อุณหภูมิ ใช้เป็นเกณฑ์ในการฝึกร่างกายให้ผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เพื่อให้อาการปวดค่อย ๆ ทุเลา และทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินบี 2 เกลือแร่ และโคเอนไซม์คิว 10

ส่วนกรณีอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจากความผิดปกติของโครงสร้าง ร่างกาย ท่านั่ง ยืน เดิน หรือนอนที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลและเกิดการฉีกขาดได้นั้น การทำกายภาพบำบัดมีส่วนช่วยแก้อาการปวดหัวได้เช่นกัน

เทคนิคสุดท้าย คือ แพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็มบริเวณหน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม และกระบอกตา ช่วยให้เส้นลมปราณที่ติดขัดไหลเวียนได้สะดวก ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อบริเวณที่มีปัญหาให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ผลจากฝังเข็ม 10 ครั้ง ใน 1 เดือน สามารถบรรเทาอาการปวดในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคไมเกรน

นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคไมเกรน

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมดูแลรักษาโรคไมเกรน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจในทุกวัน