หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคลมชัก สแกนก่อน รักษาได้

อาการสูญเสียความจำชั่วคราว เหม่อลอยเป็นพัก ๆ นอนตื่นสาย อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างที่หลายคนคิด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคลมชัก เพราะโรคลมชักไม่ได้มีอาการแค่ชักเกร็งกระตุกทุกส่วนของร่างกายหรือที่เรียกว่าโรคลมบ้าหมูเท่านั้น แต่คนที่เป็นโรคลมชักยังแสดงอาการได้หลายแบบ 

โรคลมชักคืออะไร

โรคลมชักถือเป็นโรคเก่าแก่ที่พบเป็นอันดับแรกๆของโรคทางสมองคนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าโรคผีเข้าโรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมากขึ้นอยู่กับภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองส่วนใดและรุนแรงแค่ไหนจึงสังเกตได้ยากทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชักยิ่งถ้ามีอาการเป็นๆหายๆอาจไม่ทันสังเกตเช่นสูญเสียความจำไปชั่วขณะญาติจะพามาพบแพทย์ด้วยอาการเดินเซหลงๆลืมๆโดยคิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามอายุหากพบอาการตั้งแต่เริ่มต้นสามารถรักษาหายได้


อาการเตือนโรคลมชักเป็นอย่างไร

ในกลุ่มผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีอาการวูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ ส่วนกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเหม่อลอยเป็นพัก ๆ ระหว่างทำงาน ทำปากขมุบขมิบหรือเคี้ยวปาก มือเกร็ง บางรายอาจมีอาการพูดไม่ออก ในกลุ่มเด็กโตจะมีอาการผิดปกติ เช่น นอนตื่นสาย จากเดิมไม่เคยตื่นสายมาก่อน เป็นต้น


กลุ่มเสี่ยงโรคลมชักคือใคร

โรคลมชักเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต รองลงมาคือกลุ่มเด็ก ซึ่งเกิดจากแผลเป็นในสมองติดตัวมาตั้งแต่เกิด บางรายเซลล์สมองผิดปกติ ดังนั้นพ่อแม่ ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย จากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า มีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคนเป็นโรคลมชัก ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาระหว่างคลอด หรือเกิดจากโรคเขตร้อนที่มีผลต่อสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ รวมทั้งอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจส่งผลให้เกิดโรคลมชักเพิ่มขึ้นด้วย


ความรุนแรงของโรคลมชัก

โรคลมชักเป็นอันตรายร้ายแรงที่ไม่มีแนวโน้มลดลงจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติหรืออาการชักแม้เพียงครั้งเดียวให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพราะผลจากการชักจะทำให้เซลล์สมองตายได้ คนไข้หลายคนไม่เคยชัก แต่ระหว่างการรักษาโรคกลับมีอาการวูบ เพราะสมองถูกกระทบกระเทือนกลายเป็นโรคลมชักตามมา บางรายจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศกลับมาแล้วจำไม่ได้ หรือระหว่างสนทนาหยุดพูดไปชั่วขณะ เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคลมชัก

แนวทางการรักษาโรคลมชักของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาตรวจอาการเพื่อดูคนไข้อย่างละเอียดได้แก่  

การตรวจคลื่นสมอง (EEG: Electroencephalography) เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นเส้นกราฟต่อเนื่องบนจอภาพ การตรวจคลื่นสมองเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่มีผลข้างเคียง และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่คนไข้ การตรวจนี้มีประโยชน์มากในคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก เนื่องจากสามารถยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ ในกรณีที่อาการชักไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยจำแนกชนิดของโรคลมชัก ซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภท

หากคนไข้รายไหนยังมีอาการไม่ชัดเจนจะมีการตรวจคลื่นสมอง 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีเครื่อง QEEG : Quantitative Electroencephalography ที่สามารถวัดค่าที่เป็นตัวเลขหรือกราฟออกมา ซึ่งไม่เหมือนกับการตรวจคลื่นสมองธรรมดา โดยสามารถคำนวณออกมาได้ว่า คนไข้เริ่มมีความผิดปกติอะไรออกมาแล้วแสดงเป็นภาพ ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองระยะยาวของคนไข้วิกฤติ

คุณสมบัติของ QEEG คือ สามารถบันทึก 24 ชั่วโมงหลาย ๆ วัน แล้วออกมาเป็นกราฟให้เห็นได้ชัดเจนในใบเดียว ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลนำเข้ามาใช้ดูแลคนไข้ลมชักวิกฤติ นอกจากนี้ใชัการตรวจ EEG เพื่อประเมินอาการ ดูความสัมพันธ์กับคลื่นสมองกับอาการที่ผิดปกติต่าง ๆ เนื่องจากบางคนมีอาการเฉพาะตอนที่นอนหลับ หรือบางครั้งต้องให้คนไข้อดนอนเพื่อให้คลื่นไฟฟ้าออกมาชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลได้นำร่องระบบ “Web Base EEG Monitor” มาใช้ในเอเชีย เพื่อดูแลคนไข้โรคลมชักในห้องไอซียูได้อย่างใกล้ชิด แพทย์สามารถเปิดดูข้อมูลผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ซึ่งระบบนี้จะช่วยทำให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษา แพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทางหรือเวลา

การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI: Magnetic Resonance Imaging) เป็นการสแกนสมองโดยเฉพาะใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยมีทีมผู้ชำนาญการอ่านฟิล์มสมองเพื่อความถูกต้องในการวินิจฉัยโรค ในกรณีคนไข้ไม่ตอบสนองต่อยาอาจใช้วิธีผ่าตัดโดยการตัดแผลเป็นออก หรือใช้แกมมา ไนฟ์” (Gamma Knife) ไปทำลายตรงจุดกำเนิดนั้น ๆ แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะใช้ยากันชักช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ

ป้องกันโรคลมชักได้อย่างไร

การป้องกันโรคลมชักที่ดีที่สุดคือการรู้ตัวว่าเป็นโรคลมชักในระยะแรกๆและทำการรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยป้องกันไม่ให้สมองถูกทำลายสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติส่วนพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเช่นอดนอนอดอาหารออกกำลังกายหักโหมเกินไปดื่มแอลกอฮอล์เครียดเพราะทำให้มีโอกาสเป็นโรคลมชักง่ายขึ้น


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาโรคลมชัก

ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคลมชัก

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ สามารถให้คำแนะนำและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย