หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
นอนหลับผิดปกติเสี่ยงต่อชีวิต

ใครจะเชื่อว่านอนกรนจะเสี่ยงต่อชีวิตโดยเฉพาะภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ พบได้ทุกเพศทุกวัย และบ่อยขึ้นในกลุ่มผู้ชาย คนอ้วน คนทำศัลยกรรมจมูก ใบหน้า คางให้เล็กลง รวมถึงผู้หญิงที่รับประทานหรือฉีดฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน อาจมีปัจจัยเสี่ยงทำให้ทางเดินหายใจยุบตัวขณะหลับ นาน ๆ เข้าจะเกิดโรคเรื้อรังตามมา จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนไข้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับจะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กรดไหลย้อน และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น

ที่มาของเสียงกรน

ปกติการหายใจจะไม่มีเสียง แต่ถ้าหายใจแล้วมีเสียงเกิดขึ้น ปัญหาอาจจะมาจากช่องจมูกตีบแคบเหมือนเวลาเป็นหวัดคัดจมูก  หรือช่องคอ เรียกว่า ‘เสียงกรน’ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจาก “การตีบของช่องคอ” เนื่องจากช่องคอจะมีลิ้นไก่ เมื่อหายใจลิ้นไก่จะสะบัดกลายเป็นเสียงกรน จึงไม่ใช่ภาวะปกติของคนทั่วไป ควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกรน  หากมีอาการผิดปกติ อาทิ หยุดหายใจเกิดขึ้น ออกซิเจนในเลือดต่ำ ส่งผลให้สมองตื่นตัว หลับไม่สนิท อ่อนเพลีย บ่งชี้ว่า เสียงกรนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการนอนหลับควรได้รับการรักษา

ความผิดปกติของการนอนหลับ

ปัจจัยที่ส่งผลให้การนอนหลับผิดปกติ ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่มีอาการกรนจากการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน 3 ชั่วโมงจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจยุบตัวมากขึ้น หากไม่มีปัญหาง่วงนอน เพลีย หรือปัญหาเรื่องความคิด ความจำถดถอยอาจยังไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ควรต้องติดตามอาการเป็นระยะ
  • โครงสร้างใบหน้า กลุ่มที่มีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติแต่กำเนิดหรือคนที่ผ่าตัดทำศัลยกรรมจมูก ใบหน้า คางให้เล็กลงอาจมีโอกาสนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ เพราะสรีระเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ช่องจมูกปากและช่องคอเล็กลง
  • เพศ จากสถิติพบว่า ผู้ชายมีความผิดปกติของการนอนหลับมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นตัวที่ทำให้การคงสภาพทางเดินหายใจของเพศชายทำได้น้อยกว่าเพศหญิง ทำให้โอกาสที่ผู้ชายจะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าผู้หญิง และความทนได้ของร่างกายผู้หญิงที่มากกว่า ทำให้มักจะแสดงอาการผิดปกติต่าง ๆ ไม่ชัดเจน แต่อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น นอนหลับไม่สนิท ลืมง่ายมากขึ้น สภาวะอารมณ์เหนื่อย เศร้าซึม แต่ยังทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเพศจึงเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการนอนหลับผิดปกติ หรือแม้แต่ในกรณีผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนแอนโดรเจนมาก ก็ทำให้มีโอกาสที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นด้วย
  • อายุ ถ้าเทียบกันในคนอายุน้อยกับอายุมาก กับคนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะพบว่าเปอร์เซ็นต์ของภาวะการหยุดหายใจจะมากขึ้นตามอายุ
  • ความอ้วน มีการสะสมไขมันมากขึ้น ทั้งภายในช่องคอและรอบลำคอใหญ่ขึ้นส่งผลให้เวลาหลับจะกดทับทางเดินหายใจ ร
  • พันธุกรรม เช่น โครงสร้างใบหน้า บางคนจะคางเล็กหรือว่าคางยุบ ทำให้ความกว้างในช่องปากลดลง โอกาสที่ลิ้นจะตกไปข้างหลังเวลาหลับมีโอกาสอุดทางเดินหายใจได้มากขึ้น หรือบางคนมีความผิดปกติของยีน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครโมโซม

ผลกระทบจากการนอนหลับ

การหยุดหายใจบ่อย ๆ ทำให้สมองตื่นตัวส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท ความสามารถในการหลับลึกและหลับฝันน้อยลง ซึ่งการนอนแต่ละระยะเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย เพราะการหลับตื้นแค่เป็นการพักผ่อนเหมือนแค่งีบในช่วงกลางวัน แค่ผ่อนคลายทำให้สดชื่นขึ้น แต่ถ้าหลับลึกจะมีผลในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย และเกี่ยวข้องในเรื่องของความจำจากระยะสั้นเปลี่ยนให้เป็นความจำระยะยาวได้ในช่วงหลับลึกเท่านั้น ซึ่งมีผลในการเรียน ส่วนช่วงหลับฝันจะเป็นความจำในส่วนของทักษะ เช่น  ขับรถอย่างไร เล่นกีฬาอย่างไร แต่กรณีคนที่มีไอคิวเยอะอาจไม่รู้สึกมากนั้น เพราะมีต้นทุนเยอะกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กรดไหลย้อน และหลอดเลือดสมองตามมา

ตรวจการนอนหลับ

การตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab) สามารถช่วยแยกว่าผู้ป่วยเป็นกรนธรรมดาหรือกรนแบบหยุดหายใจ สามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากน้อยเพียงใด และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

รักษาการนอนหลับ

วิธีการรักษาเมื่อมีปัญหาการนอนหลับ มีทั้งรับประทานยา ใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแต่ละคนใช้แตกต่างกัน หรือการผ่าตัด เช่น กรณีเด็กมีต่อมทอนซิลใหญ่ในช่องคอ ทำให้มีโอกาสเกิดการอุดตัน ทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ถ้าผ่าตัดก็มีโอกาสหายได้ ยกเว้นคน ๆ นั้นมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อทางเดินหายใจยุบตัวมากผิดปกติหรือกรณีน้ำหนักเยอะหากลดน้ำหนักอาการอาจหายไปได้