หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
กรน-นอนไม่หลับอันตรายชายเสี่ยงกว่าหญิง

ทุกคนรู้ดีว่า “การนอนหลับ” คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะเป็นการช่วยเติมพลังและการทำงานของร่างกายให้เกิดความสมดุล เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ บางครั้งพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติโดยที่เราไม่รู้ตัวก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของคุณและคนใกล้ชิดได้เช่นกัน

ปัจจุบันตัวเลขในการตรวจเรื่องการนอนหลับไม่สนิท นอนกรน การหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ แถมด้วยภาวะวูบหลับโดยไม่รู้สาเหตุ ใน 1 ปี พบผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์มากถึง 400 – 500 คน ประเด็นสำคัญมีว่า อาการนอนกรน หลับไม่สนิท ไม่เต็มอิ่ม โดยเฉพาะเกิดกับคุณผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามไปง่าย ๆ เพราะอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยร้ายแรงได้ ความน่ากลัวอาจไม่ถึงกับขั้นที่ว่า นอน ๆ อยู่แล้วเสียชีวิตทันที แต่มีผลต่อเรื่องของระบบหัวใจ ความดัน ทำให้หัวใจโตแล้วก็ความดันสูงได้ สมมติว่าคนไข้มีโรคเบาหวานอยู่ก็จะทำให้การควบคุมเบาหวานทำได้ยากขึ้น มีโอกาสทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ที่ทำให้เสียชีวิตเลย

สาเหตุเนื่องจากว่า พอกล้ามเนื้อตรงคอที่หลอดลมเริ่มหย่อนยาน เนื่องจากอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดตอนช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ผู้ชายจะเจอมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยเกี่ยวกับน้ำหนักก็มีส่วน ผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วหรือว่าอ้วนก็จะมีโอกาสเกิดได้สูงกว่า แล้วอีกปัจจัยหนึ่งก็เกี่ยวกับพันธุกรรม เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะมีปัญหากล้ามเนื้อส่วนที่ว่าหย่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับโครงสร้างของใบหน้าด้วยเช่นกัน คนเอเชีย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องคอสั้น หน้าสั้น ค่อนข้างจะแบน ๆ นิดหนึ่ง โครงสร้างจะทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบก็ยิ่งจะเกิดได้ง่ายขึ้น บวกกับการออกกำลังกายที่น้อยลงก็มีผลทำให้เกิดกล้ามเนื้อส่วนนี้หย่อนและยิ่งจะหย่อนมากเวลาหลับลึก พอเริ่มหลับลึกก็จะหย่อน พอหย่อนแล้วหลอดลมก็จะแฟบ ออกซิเจนก็จะไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองก็จะสั่งให้ตื่น คนไข้ที่มีอาการที่ว่านี้ก็จะหลับ ๆ ตื่น ๆ ได้บ่อย เรียกว่า หลับไม่เต็ม

นอนกรนกับภาวะหลับไม่เต็มอิ่ม

ไม่ใช่ทุกคนที่นอนกรนจะมีอาการหยุดหายใจ เพียงแต่คนนอนกรนมีโอกาสหลับไม่เต็มอิ่มค่อนข้างสูงกว่าคนปกติที่ไม่นอนกรน ใครที่นอนกรนควรจะต้องสังเกตตัวเองในเบื้องต้นสักหน่อยว่ามีอาการหยุดหายใจไหม นอนกรนบางคนอาจจะไม่ได้หยุดหายใจ อาจจะเป็นเรื่องของทางเดินหายใจท่อนบนตีบตัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ กลุ่มผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ไซนัส หรือบางคนทอนซิลโต ก็คือนอนกรน แต่ไม่ได้หยุดหายใจ

สัญญาณเตือนสำคัญที่ใช้เป็นตัวชี้วัดในคนไข้ที่หลับไม่อิ่มจนต้องมาตรวจและปรึกษาแพทย์ ก็คือ เสียงกรนที่ดังจนรบกวนคนข้างเคียง จะพบว่าคนไข้เองก็ไม่รู้ตัว จนกระทั่งคนข้างเคียงบอก เตือนให้ไปตรวจ หรือว่าคนที่บ้านบอกไม่ไหวแล้ว เสียงกรนดังมาก ต่อมาให้สังเกตตัวเอง คือ ถ้ามีอาการตื่นมาตอนเช้า ทั้ง ๆ ที่ชั่วโมงในการนอนเพียงพอ อย่างน้อย ๆ 6 – 8 ชั่วโมง แต่ตื่นมาแล้วเหมือนกับนอนไม่พอ ตื่นเช้ามาแล้วไม่สดชื่นเลย พอสาย ๆ ก็มักจะง่วง โดยเฉพาะหลังทานข้าวเที่ยง ขับรถตอนบ่าย ๆ อยู่คนเดียวเฉย ๆ นั่งตอนเข้าประชุมแล้วง่วงตลอด นี่คืออาการสำคัญที่เตือนคุณแล้วว่า “หลับไม่เต็มอิ่ม” หากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่าผู้ที่นอนกรนจะหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น และเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจ ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนและหยุดหายใจนั้นถูกขัดขวาง ผลก็คือ ทำให้ตื่นขึ้น โดยจะมีอาการเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง แล้วก็กลับมาเริ่มหยุดหายใจใหม่

ปัญหาการนอนควรต้องมาปรึกษาแพทย์ ถ้าจะให้ชัดเจนก็ต้องตรวจกันตอนหลับ เพราะเวลามาหาอาจได้แค่ซักประวัติ ดูแนวโน้มว่ามีโอกาสจะเป็นโรคมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าจะให้วินิจฉัยให้ได้ผล 100% ควรต้องมาทำสลีปแล็บ (Sleep Lab) โดยคนไข้ที่มาตรวจต้องมานอนโรงพยาบาลสัก 1 คืน มาตรวจโดยใช้อุปกรณ์วัดในช่วงเวลาการนอนเพื่อดูว่ามีปัญหาเรื่องกรนไหม ออกซิเจนตกหรือเปล่า หรือมีอะไรที่เป็นปัญหาหรือไม่

ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

ผู้ชายอายุ 30 ปีขึ้นไปเสี่ยงกว่าผู้หญิง แนะนำว่าถ้ามีปัญหาการนอนควรจะต้องมาตรวจเช็กว่ามีอาการความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน บางคนเป็นเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นที่ต้องใช้เครื่องสวมใส่ตอนนอนหลับทุกวัน ซึ่งช่วยทำให้หลอดลมกว้างขึ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหา แต่ใช้กับคนที่เป็นเยอะเท่านั้น

สำหรับห้องตรวจ Sleep Lab ศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชัก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมตรวจผู้ป่วยที่มีปัญหาผิดปกติในระหว่างการนอน อาทิ นอนกรนมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงนอนมากผิดปกติ ผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมองเพิ่มมากขึ้น โรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนหายใจผิดปกติ นอนละเมอ หลับมากเกินไป หรือหลับทั้งกลางวันและกลางคืน หลับนาน 3 – 4 วัน จนส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สดชื่น เพราะนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ยังเป็นเรื่องของประสิทธิภาพความคิด ความจำลดลง ลืมง่าย

Sleep Lab การตรวจการนอนหลับเพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ใต้คางและขา การกลอกลูกตา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจทางปากและจมูก ร่วมกับความสามารถของกล้ามเนื้อหน้าอกและท้องที่ใช้ในการหายใจ ในห้องพักผู้ป่วย สามารถตรวจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากพบความผิดปกติ การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งสำคัญ ในกลุ่มผู้ที่มีอาการนอนหลับผิดปกติพบมากขึ้นเรื่อย ๆ หากพบมีอัตราการหยุดหายใจมากระดับหนึ่งอาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน หรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการหยุดหายใจในขณะหลับ และอาการกรน

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ต้องหลับอย่างมีคุณภาพ ไม่อย่างนั้นก็  “เสี่ยง”